ประสบการณ์ การเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันเว็บไซต์

ได้รับเกียรติไปเป็นคณะกรรมการตัดสินแข่งขันทักษะการ(สร้างระบบ)ขายสินค้าออนไลน์ (e-commerce) ในการประชุมวิชาการ องค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย การแข่งขันทักษะวิชาชีพ ทักษะพื้นฐาน ระดับภาค ภาคกลาง ครั้งที่ 24 ประจำปีการศึกษา 2559 วันที่ 6-10 ธันวาคม 2559 ณ วิทยาลัยเทคนิคชัยนาท

ซึ่งมีสถาบันอาชีวศึกษาในภาคกลางเข้าร่วมทั้งหมด 14 ทีม ทีมละ 2 คน ซึ่งอุปกรณ์ทุกอย่างทางผู้จัดจะเตรียมไว้ให้ ทั้งคอมพิวเตอร์ที่ใช้แข่งขัน เครื่องแม่ข่ายและเนื้อหาของสินค้า โดยการแข่งขันนั้นมีกติกาที่เป็นมาตรฐานระดับชาติ เป็นผู้ออกกติกาที่ใช้แข่งขัน ในครั้งแรกที่ผมเห็นกติกานี้ผมอยู่ในฐานะของที่ปรึกษา นศ.ที่จะเข้าแข่งขัน โจทย์ที่ให้มานั้นคือ สร้างระบบ e-commerce เกือบสมบูรณ์ ในเวลา 6 ชั่วโมง ซึ่งมันน้อยมาก ๆ ในความรู้สึกผม เพราะแค่คิดว่าจะขายอะไรนั้นก็ยากเต็มทนแล้ว โดยครั้งแรกทีเห็นนั้นผมมีอติกับการกติกาการแข่งขันนี้มาก เพราะมันดูเป็นการตีกรอบความคิด

“เด็กไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่นอกเหนือจากนี้ได้เลยหรือ?” คำถามใจในผมตอนนั้น

จนครั้งนี้มาเป็นกรรมการถึงได้เข้าใจว่า การประเมินทักษะ ทำไมถึงต้องออกกติกาแบบนี้ เนื่องจากเป็นการวัดมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งคะแนนที่ให้มา 100 คะแนน ก็มีการให้ค่าน้ำหนักแตกต่างกันออกไป ซึ่งจะลำดับไปตามหัวข้อต่างๆ ที่เป็นโจทย์ ถ้าทำได้ก็ให้คะแนน โดยกระบวนการให้คะแนนนี้ก็เหมือนกับเราทำ KPI นั่นแหละ มีการวัดระดับความสำเร็จ ถ้าได้ 2 ข้อ ให้คะแนนเท่านี้ ได้ 3 ข้อขึ้นไป ให้คะแนนอีกอย่าง

วิธีที่เด็กจะชนะเลิศในการแข่งขันทักษะนี้ได้คือ “ตีโจทย์และซ้อม…และซ้อม”

มันเป็นกระบวนการที่ไม่ยาก และก็ไม่ง่ายสำหรับนักศึกษาระดับ ปวช-ปวส ที่เข้าแข่งขัน ซึ่งต้องตีโจทย์ที่เป็นข้อๆ ให้แตก ว่าโจทย์ให้ทำอะไร แค่ไหนถึงได้คะแนน เสร็จแล้วเขียนแผน ว่าจะเริ่มกระบวนการไหนก่อน ใช้เวลาเท่าไหร่ อะไรที่เสียเวลามาก็ตัดทิ้งไป ใครจะ coding ใครจะ design ต้องแบ่งสรรปันส่วนให้ทันกับเวลา

ผมยกตัวอย่างทีมที่ชนะเลิศมา พอเวลาเริ่ม กรรมการชี้แจงขั้นตอนและกติกาอีกครั้ง พอจับ keyboard ได้ สิ่งแรกที่ทีมนี้ทำคือ สร้าง database ขึ้นมาก่อน (ซึ่งหลายทีมก็ทำ) แต่ผมเห็นสิ่งที่ดูมีแววคือการใช้ชื่อ table แบบมี _prefix การตั้งชื่อ field ที่สอดคล้องกับ table และใช้ประเภทที่เหมาะสม มีการสร้าง relation ที่ค่อนข้างใช้ได้

เสร็จแล้วสมาชิกในทีม 2 คน สามารถ coding ได้ทั้งคู่เลย สิ่งนี้เลยกลายเป็นจุดแข็งของทีม ช่วยกัน code ส่วนต่างๆ แบ่ง module กันทำ ส่วนอีกคนก็ออกแบบ วาง layout ไว้ ทำ flash animation ตามกติกากำหนดด้วย คือแทบจะไม่มีข้อบกพร่องเลย ทำตาม scope แปะๆ มีการขอทดสอบการส่งอีเมล แต่ส่งไม่ได้ อันนี้ผมไม่ได้ดู code เขาว่าเขียนยังไง แต่ผมตั้งค่าเครื่อง Server และลองสร้าง form ส่งเมลให้แล้วว่าใช้งานได้จริง ทีมที่ชนะมีการใช้ input date, input number และ html5 ใหม่ๆ ใช้ placeholder ใน input ผมก็ถามว่าพิมพ์เองใช่มั้ย เพราะใน dreamweaver มันจะไม่มีขึ้นมาให้ เด็กก็ตอบใช่ (สุดยอดจริงๆ อัพเดทตัวเองให้ทันสมัยแบบนี้ซิ)

ซึ่งทีมอื่นก็คงมีรายละเอียดวิธีการทำคล้ายๆ กัน ผ่านไป ครึ่งทาง 3 ชั่วโมง บางทีมก็เริ่ม upload เข้ามายัง server กลางที่ตั้งไว้ให้ (การแข่งขันจะ offline ทั้งหมด) บางทีมติดปัญหาเรื่อง software ที่ไม่เคยใช้งาน AppServ 2.5.10 บางทีมก็ไม่เคยใช้ FileZilla ในการอัพโหลด

วนกลับมาที่ AppServ 2.5.10

กติกาเขาระบุว่าให้ใช้ AppServ 2.5.10 น่ะ ทีแรกผมก็หงุดหงิดใจว่าทำไมใช้ ทั้งที่มันเก่ามากแล้ว แต่วันที่สรุปผลผมก็ชี้แจงกับ นศ และ คณาจารย์ไปถึงเหตุผลว่าทำไมถึงเป็น version นี้ เนื่องจาก มันเป็นสิ่งที่อยู่กับ webmaster รุ่นแรก ๆ มา พวกเรามาจากตรงนี้ มันเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าเรียนรู้ไว้ ไม่ว่าเราจะใช้เทคนิคสมัยใหม่แค่ไหน ใช้ tool หรือเครื่องมืออะไรก็ตาม แต่อย่าลืมรากเง้า

รีรออัลไล?

ส่วนมากจะรีรอ ให้ใกล้หมดเวลาก่อนถึงจะ upload ขึ้นมาบน server จริง จนบางทีมก็เรียก database ไม่พบบ้าง path ผิดบ้าง ลืม upload file บ้าง อัพผิดบ้าง ซึ่งก็ต้องให้คะแนนตามสภาพที่เห็นอยู่ บน server เท่านั้น (พอหมดเวลา ผมก็ Stop FTP service ทันที)

ช่วงเวลาหลังหมดเวลา จะมีการ present ผลงาน ว่าทำอะไรไปบ้าง ทีมละ 10 นาที ตรงนี้ส่วนมากเด็กจะไม่ได้เตรียมตัวมา ว่าต้องพูดอะไร ต้องนำเสนอตรงไหน บางคนก็เตรียมตัวมาบ้าง แต่ web ที่ทำดันมี bug ทำให้สมัตรสมาชิกไม่ได้บ้าง โพสไม่ได้บ้าง สร้างสินค้าไม่ได้ เข้า admin ไม่ได้ สารพัดปัญหา ซึ่งพอเด็กไม่ present จุดสำคัญๆ  กรรมการก็ต้องยิงคำถามเพื่อให้ได้คะแนน ส่วนมากที่ผมถามจะเป็น code และ backend ส่วนกรรมการอีก 2 ท่านจะดูภาพรวมๆ

ผมจะถามในสิ่งที่เผื่อว่าเด็กจะรู้ เช่น มีทีมหนึ่งสร้าง field product_id เป็นแบบ Unsigned ผมก็ถามว่าทำไมตั้งเป็น Unsigned เด็กจะตอบว่า เพื่อไม่ให้มันเป็น 0 ซึ่งคำตอบก็เกือบถูกแหละ แต่ผมไม่บอก ว่าคำตอบที่ถูกคืออะไร ให้เขาไปหาเอง ว่าทำไมถึงใช้ Unsigned (ตอนผมสรุปท้ายงานผมบอกเหตุผลว่าทำไมผมไม่บอก เพราะสิ่งเหล่านี้เด็กสามารถหาคำตอบได้ด้วยตนเองจาก internet อยู่แล้ว)

บางทีมใช้ form validate (จริงๆ มันเกินที่โจทย์กำหนดนะ) เช็คข้อมูลที่ใส่ ผมก็ลองให้เขาทำให้ดู ทีแรกก็สงสัยว่า ระบบมัน offline นะ สร้างได้ยังไง พอเขา inspect ผมถึงร้องอ๋อ ใน dreamweaver มันมี spry validator นี่หว่า แต่ก่อนเคยใช้ แต่ ขนาดเว็บมันเยอะขึ้นบานตะไทเลยหันไปใช้วิธีอื่นแทน

บางทีมทำ menu แบบ dropdown ได้ด้วยละ ผมก็คิดว่าจะปั่น css มา แต่ก็ใช้ spry menu dreamweaver ทำเช่นกัน สุดยอดจริงๆ

บางทีมออกแบบมาสวยงาม แต่ ระบบทำงานอะไรไม่ได้เลยซักอย่าง ซึ่งคะแนนก็ได้ก็จะไม่มาก เพราะไม่ได้ให้น้ำหนักที่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญในการแข่งขันครั้งนี้คือ “สร้างระบบขายสินค้าออนไลน์” ถ้ามีระบบที่ครบถ้วน ทำงานได้ เท่านี้คะแนนก็ไม่ไปไหนแล้ว

หลังฟังนำเสนอเสร็จครบทุกทีม

กรรมการสรุปคะแนน กว่าจะสรุปกันเสร็จก็มือพอดี เกือบ 1 ทุ่มแล้ว จากนั้นก็เรียกผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด รวมถึงอาจารย์มาฟังประกาศผล และสรุปข้อเสนอแนะจากกรรมการ ผลก็คือทีมที่ผมไปยืนดูวิธีทำงานนั่นแหละ ได้ที่ 1 ซึ่งทำงานได้ดีมาก ไร้ที่ติ แม้จะไม่ได้สมบูรณ์ 100% แต่ก็ดีที่สุดในการแข่งวันนี้แล้ว

ผมกล่าวสรุปเป็นคนสุดท้ายของกรรมการ พูดเนื้อหาที่เด็กได้ทำ ข้อบกพร่องที่พบ และผมก็ไม่ลืมบอก ว่าผมมาจาก Young Webmaster Club ภายใต้สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ผมก็ชวนเด็กที่จะศึกษาต่อ ว่าให้เก็บ profile ตัวเองไว้ และสมัครไปค่าย YWC ให้ได้! น้องจะเห็นเป้าหมายในอาชีพที่ชัดเจนขึ้น และได้ประสบการณ์ที่สุดๆ ในสายอาชีพนี้ ไม่เพียงแค่ programming กับ design เท่านั้น ค่ายยังมี content และ marketing อีก ที่ทำหน้าที่ ๆ แตกต่างกันไป บลาๆๆ (พูดยาวมากจำไม่ได้แล้ว)

พอมอบของขอบคุณคณะกรรมการเสร็จ ถ่ายรูปกับเด็กและอาจารย์ที่มาครบแล้ว มีอาจารย์ท่านหนึ่งเดินเข้ามาทัก “พี่อยู่สมาคมผู้ดูแลเว็บใช่มั้ย ผม YWC#8 programming พี่รุ่นไหน? ผมหามานานแล้วว่าจะมีใครพูดชื่อ YWC” 

ก็พูดคุยกับเล็กน้อย จนผมรู้ว่า น้องคนนี้เป็น อ.ของทีมที่ชนะ! ก็เลยถึงบางอ้อ ว่าทำไมทีมนี้เก่ง!! 

สรุปงานนี้ สิ่งที่ได้คือ

เด็กสมัยนี้เขามีทักษะที่เจ๋งกว่ารุ่นเรานะ เขาเร็ว เขาไว เขา GenZ เขามีความคิดสร้างสรรค์ ถ้าผลักดันได้ถูกที่ถูกทาง เขาจะไปได้ไกลมากๆ และคนพวกนี้จะต้องเติบโตมาเป็นอนาคตของชาติ ถ้าอยากให้ประเทศชาติเป็นอย่างไรก็ หันกลับมามองเยาวชนในวันนี้ก็แล้วกันครับ ว่าคนที่ท่านเห็นนั้นเขาเก่ง ฉลาด และไม่เบียดเบียนผู้อื่น สามารถช่วยเหลือตัวเองและเอาตัวรอดในสังคมได้ หรือว่าดักดานอยู่กับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อยู่กับความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี

ผมเองไม่ค่อยได้เดินไปส่วนอื่นของวิทยาลัยเทคนิคชัยนาทซักเท่าไหร่ แต่อาคารที่ผมได้ขึ้นไปก็ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่า Thailand4.0 มันยังมีความหวัง เนื่องจาก บริเวณทางขึ้นบันได จะมีห้องน้ำ (อาจารย์) หน้าห้องน้ำ มีตู้ไม้อยู่ใบนึง ด้านล่างมีแปรงเป็นพุ่ม น่าจะใช้หมุน เพื่อขัดรองเท้า เออเจ๋งดี ส่วนในห้องน้ำ พอเปิดเข้าไป แม่งมีเสียง!! “กรุณารักษาความสะอาด” มาจาก censor ที่ประตู ส่งไปที่กล่องติดกับลำโพง เห็นแล้วบอกได้เลยว่า มันใช่! นี่ดิ๊ “อาชีวะ” และที่ได้พบในงานนี้เต็ม ๆ ก็คือ

“YWC is Everywhere!!”