สุนทรียสนทนา นำพาสู่ความเข้าใจ

โครงการพัฒนาพฤติกรรมบริการสู่ความเป็นเลิศ ปี 2558

“สุนทรียสนทนา นำพาสู่ความเข้าใจ”

เช้าวันจันทร์อันแสนเร่งรีบ หลังจากจัดการภาระกิจหลักช่วงเช้าเรียบร้อยแล้วก็ไปทำงานตามปกติ ซึ่งมีเรื่อง surprise อย่างมากเมื่อรู้ว่าวันนี้มีเข้าอบรมโครงการ ESB ตายห่า! ข้าวยังไม่ได้กิน
แล้วเน็ตเจ้ากรรมดันงอแงแต่เช้า เข้าไปห้องทำงาน แก้ๆ อยู่ 10 นาที ใช้งานแล้ว แล้วก็บึ่งขึ้นชั้น 7 แบบไม่ทันตั้งตัว คิดว่าขึ้นๆ ไปก่อน

พอเข้าช่วงพิธีการก็แบบเดิมๆ ไม่ได้ฟังอะไรเป็นพิเศษ จนตัดเข้ามาช่วงที่วิทยากรเริ่มบรรยาย งานนี้มีวิทยากรหนุ่มหน้าตี๋ look ดูแปลกๆ แหวกแนววิทยากรที่เคยเห็น แสดงว่ามีของ! (ตั้งสมมุติฐานไว้ในใจ) เริ่มต้นบรรยายก็ฟังทันมั่งไม่ทันมั่ง ว่าต้องการให้รับฟังแบบไม่เป็นพิธีการ แบบสบายๆ ผ่อนคลาย บลาๆๆ โดยเริ่มต้นจากการหรี่ไฟ และลึกขึ้นเดิน ตามเสียงระฆัง ที่วิทยากรผู้ช่วยคอยเคาะบอกจังหวะ เริ่ม – หยุด

การเดิน ให้จินตนาการถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ทบทวนเรื่องราว สัมผัสความรู้สึก นึกถึงเสียงนก แมกไม้ จากการเดินปกติ ก็เปลี่ยนมาเป็นการยิ้ม ให้แก่คนที่เดินสวนกัน หรือพบเห็น เป็นการสื่อความหมายทางใจ ที่แสดงออกทางสีหน้า เมื่อเดินต่อ ให้จับคู่กับคนที่อยู่ตรงหน้า และแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่ไม่มีหัวข้อแก่กัน เล่าสิ่งที่กังวล สิ่งที่คิดในใจ สิ่งที่อยากจะพูด บลาๆๆ

จากนั้นมีการแบ่งกลุ่ม ประกอบด้วย ขี้น้อยใจไม่ช่างพูด, พูดตรงชัดเจนจบคือจบ, คิดเร็วพูดเร็ว, คิดแต่ไม่พูดทำหน้านิ่งๆ แล้ววิทยาการก็อธิบายต่อว่าในแต่ละกลุ่มนั้น มีบุคลิกลักษณะ อุปนิสัยใจคออย่างไร และให้ทำกิจกรรมกลุ่ม โดยให้คนที่อยู่ในกลุ่มนั่นแบ่งกันซัก 4 – 5 คน เพื่อพูดให้เพื่อนในกลุ่มฟังว่า “ทำไมถึงคิดว่าตัวเราอยู่กลุ่มนี้” ทำไมถึงคิดว่าเราเป็นแบบนี้ เพราะ…? และให้เพื่อนฟัง ผลัดกันพูดและตั้งใจฟัง

และวิทยาการก็สรุปให้ฟังอีกครั้ง ว่ามีการแบ่งคนออกเป็น 4 ประเภทที่ชัดเจนขึ้น โดยเทียบกับบุคลิกภาพของมนุษย์ แบ่งได้ดังนี้

กระทิง เป็นตัวแทน ทิศเหนือ (ธาตุไฟ ฐานร่างกาย) บุคลิกประจำตัวคือ มุ่งมั่นสู่เป้าหมาย ตรงไปตรงมา ชัดเจน พุ่ง กล้าลุย ทำเร็วคิดเร็ว ทำก่อนคิด ชอบสั่งการ รักความยุติธรรม เน้นผลลัพท์ โกรธง่ายหายเร็ว

หนู เป็นตัวแทน ทิศใต้ (ธาตุน้ำ ฐานจิตใจ) บุคลิกประจำตัวคือ มุ่งความสัมพันธ์ คือจะสนองตอบความต้องการของผู้อื่นเป็นหลัก ประนีประนอบ ชอบทำอะไรเป็นหมู่คณะ ละเอียดรอบคอบ มีสัมพันธภาพ ยืดหยุ่น

หมี เป็นตัวแทน ทิศตะวันตก (ธาตุดิน ฐานความคิด) บุคลิกประจำตัวคือ รอบคอบ เจ้าระบบระเบียบ มีขั้นตอน มีการวางแผน ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบทำอะไรซ้ำๆ อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ชอบแผนการที่แน่นอน

อินทรี เป็นตัวแทน ทิศตะวันออก (ธาตุลม ฐานความคิด) บุคลิกประจำตัวคือ มองกว้าง มีจิตนาการ ความคิดสร้างสรรค์และวิสัยทัศน์ ไม่ชอบความซ้ำซากจำเจ ชอบอะไรแปลกใหม่ มองภาพใหญ่ และคิดอะไรใหม่ๆเสมอ

11880559_1015805588460172_2669137422138521491_n11873455_1015805735126824_7012618507348816522_n 11222513_1015805615126836_5227051038287116774_n 11866465_1015805651793499_7153529381125159089_n

ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จาก :

อริยสัตว์ 4 คุณเป็นคนประเภท กระทิง-หนู-หมี-อินทรี

เมื่อแบ่งประเภทแล้วก็ให้กิจกรรมกลุ่มทำเหมือนเดิม คือคิดว่าเราอยู่ประเภทไหน ให้ไปอยู่กลุ่มนั้นและบอกเหตุผลให้เพื่อนในกลุ่มฟังว่าเพราะอะไร ทำไมถึงคิดว่าเราอยู่ประเภทนี้ จากนั้นก็แบ่งกลุ่ม โดยคละกัน อย่างน้อย 7-8 คน ในกลุ่มนี้ก็จะมีคนทุกประเภทอริยสัตว์ 4 จากนั้นก็นั่งล้อมวง และเริ่มการพูดให้คนในกลุ่มฟัง ว่าที่เราเป็นสัตว์ประเภทนี้ เพราะอะไร…? ทำไมเราถึงเลือกเช่นนั้น

หัวข้อต่อมาคือ เราต้องการให้คนอื่นพูดคุยกับเราอย่างไร? มันเป็นกิจกรรมกลุ่มของคนที่ความคิดต่างกัน แต่มา tune กันด้วยเงื่อนไขบางอย่างที่สามารถรับฟังกันได้ หลังจากนั้นวิทยากรก็สรุปให้ฟังว่า เพราะเหตุใดจึงแบ่งกลุ่มเช่นนี้ บลาๆๆ และให้ตัวแทนแสดงความคิดเห็นถึงกิจกรรมที่ทำ ว่าได้รับอะไร? ได้แง่คิดอะไรบ้าง เป็นการจบภาคเช้า

ภาคบ่าย เริ่มจากการบรรยายของน้องต้อง (Pattara Kittimanon) เล่าประสบการณ์ชีวิตให้ฟัง จากเด็กสู่ปัจจุบัน หลังจากนั้นก็มีกิจกรรมให้เดินอีกรอบ โดยให้จินตนาการถึงวัยเด็ก เรื่องราวในอดีต ที่เคยผ่านมา จากนั้นแจกกระดาษให้คนละ 1 แผ่น และสีช๊อคให้วาดภาพจากจินตนาการในวัยเด็กออกมา เมื่อวาดเสร็จก็มาเดินอีกรอบหนึ่ง และหลับตาหมุน และกลับหลังหันตามที่วิทยาการสั่ง เมื่อลืมตาให้เราจับคู่กับคนแรกที่อยู่ตรงหน้า เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์วัยเด็ก โดยวิธีการคือ เปิดภาพวาดของ A และเล่าให้ B ฟัง ว่าเรื่องราวในภาพเป็นอย่างไร เมื่อจบ ให้ B เป็นผู้ทวนการรับฟัง ว่าได้ฟังอะไรบ้าง จากนั้นสลับกันเล่า โดยแก่นของเรื่องนี้จะเป็นการรับฟังโดยไมมีเงื่อนไข ไม่ขัดจังหวะ ไม่มีคำถาม ไม่มีอัตตา เพียงแค่รับฟังเท่านั้น จากนั้นก็จับกลุ่ม 4 คน เพื่อนแลกเปลี่ยนรับฟังกันเช่นเดิม และพูดถึงโหมดชีวิต ที่เป็นโหมดปกติ และ โหมดปกป้อง

11855782_1016212838419447_1041141458362512432_n

ซึ่งเมื่อจบกิจกรรมแล้วผมเองก็ยังไม่ได้ทำความเข้าใจอะไรมากมายนัก เพียงแต่รู้สึกว่าเราต้องทำตัวเป็นชาครึ่งถ้วย ที่ยังเติมได้เรื่อยๆ ถ้าเรามี 100 ไม่ว่าใครจะเติมอะไรให้ มันก็ล้นออก แต่ถ้าเรามีซัก 50 และผู้อื่นเติมให้อีก 50 มันก็จะเต็มพอดี และคนที่เติมให้ก็ว่างพอที่จะไปรับของคนอื่นๆอีก มาเติมเพื่อให้เต็ม 100 เหมือนกัน

หลังจากจบกิจกรรมแล้ว ผมกลับมานั่งหาคำตอบ ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นวันนี้มันคืออะไร? มันมีทฤษฎีและหลักการอย่างไร? จนได้ข้อสรุปคร่าวๆ ดังนี้

สรุป

กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็น “สุนทรียสนทนา” (Dialogue) เป็นการสนทนาแบบรับฟังความคิด วิธีการรับฟังและให้ความหมายคนอื่นต่อสิ่งที่พูด โดยไม่มีข้อซักถาม หรือข้อขัดแย้งในขณะที่ฟัง ซึ่งเมื่อฟังจบเราทบทวนเรื่องราวที่ได้รับฟังทั้งหมด มันจะได้คำตอบอยู่ในนั้นแล้วโดยไม่ต้องตั้งแง่ที่ทำให้เกิดอัตตาต่อการรับฟังของเรา เป็นการฝึกตัวเองให้ “รู้จักวิธีฟังที่ถูกต้อง” เมื่อการไม่มีคำพูดแทรกเข้ามารบกวนการฟังของเรา เราจะฟังได้ดีขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงเร็วจนน่าใจหาย การที่เราไม่ทันหรือเราไม่รู้ เป็นเพราะเราไม่ฟัง หรือป่าว? เราไม่ได้รอบรู้ทุกสิ่งอย่าง และสิ่งที่เราไม่ได้รอบรู้เนี่ย เราควรฟังคนอื่นให้มาก คนรุ่นใหม่เขารู้กว่าเราในหลายๆเรื่อง แต่บางครั้งการฟังนั้น มันก็ไม่ได้ดีหรือได้ประโยชน์เสมอไป มันอยู่ที่คนพูดด้วย ว่าเขาพูดให้เราฟังแบบไหน

ลองนึกภาพการรับฟังในห้องประชุม เมื่อเข้ามาก็ต้องมีวาระการประชุม เรื่องแจ้งให้ทราบ ประธานก็จะพูด บลาๆๆ เรื่องสืบเนื่อง บลาๆๆ เมื่อจบประธานสรุป ประธานพูดต่อ ประธานถามว่าใครจะพูดมั้ย? ถ้าไม่ ผมขอพูดต่ออีกหน่อย การพูดที่เราอยู่ในความคิดของตัวเอง พูดในความรู้สึกของตัวเอง ไม่ได้เข้าถึงคนอื่น ก็ไม่ต่างอะไรกับการซ้อมพูดหน้ากระจก เมื่อสิ่งที่พูดมันไม่ได้สัมผัสคนอื่นเลย พูดพร่ำไปก็ไม่มีใครฟัง กับอีกตัวอย่างนึง การนำเสนอแนวคิด เสนองาน โปรเจค ในที่ประชุมแล้ว ทุกคนทำเหมือนฟัง แต่บทสรุปคือ ไม่เอา ไม่ดีหรอก เอาแบบที่ฉันว่านี่แหละ หรือตัดบทไปกว่านั่นคือ แทรกขณะยังพูดไม่จบ การฟังก็เช่นกัน เราฟังด้วยอัตตา หรือ ความยึดมั่นถือมั่นในจิตใจเราเองหรือป่าว เราฟังเพราะเราอยากฟังจริงหรือป่าว หรือ เพราะเราแค่ได้ยินเสียงที่ผ่านหูไป ยิ่งไปกว่านั้น ในเวลาที่คนเรามีความคิดเห็นที่แตกต่างกันคุยกัน บางครั้งที่เราไม่เข้าใจ และไม่พยายามเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด เมื่อการโต้แย้งจบลง ก็ยังคงมีความคิดค้างคาในใจ ทำไมต้องแบบนั้น ทำไมต้องแบบนี้ เราเป็นแบบนั้นจริงอย่างที่เขาว่าหรือป่าว? ซึ่งเมื่อคนทั่วๆไปใช้คำตอบจากคนรอบๆข้าง ที่เขาก็ไม่ได้ฟังมาเหมือนกัน เขาก็จะตอบด้วยอัตตาของตัวเอง ที่จำเป็นต้องเลือกข้าง ว่าจะซ้าย หรือขวา เพื่อให้ถูกใจ (ผมเคยบอกแล้วคนใช้ชีวิตกลางๆนี่มันยากนะ อ่านได้ที่ -> https://moremeng.in.th/2014/05/colored-pencil.html ) ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะเราไม่ได้ฟังให้ดีหรือป่าว? เราเอาความคิดเราโต้แย้งเขา เราใช้มโนคติเรายืนยันในความคิด เสริมความคิดของเรา เพื่อตัวเรามากไปหรือป่าว? ลองเอาคำโต้แย้งของผู้อื่น และใส่ความคิดคนอื่นลงไป เป็นคำตอบให้ตัวเราดู คุณจะรู้ว่ามันมหัศจรรย์แค่ไหน

การพูดก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการฟัง พูดอย่างไรให้ถึงใจเขา พูดอย่างไรให้เขาสัมผัสรับรู้ได้ เปิดใจอย่างไรให้รับรู้สิ่งที่เขากำลังฟัง เราต้องฝึกทักษะตรงนี้กันอีกมาก ไม่ใช่แค่พูดๆไป เพื่อทิ่มแทงใจไปวันๆ โดยที่เราเองไม่ได้รู้สึกอะไรกับคำพูดที่ออกไปเลย บทเรียนนี้ทำให้เรากลับมาทบทวนการรับฟังของตัวเอง เพื่อฟังให้มากขึ้น ชัดเจนขึ้น และรู้สึกถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้พูด ในขณะทีเราฟัง

ขอบคุณภาพประกอบจาก : พี่จอย (En Joy https://www.facebook.com/chayanit.joy)