“วันที่ปัญญาตีบตัน” ที่จั่วหัวมาแบบนี้เพราะมันเป็นวันที่ผมรู้สึกเขียนอะไรไม่ออก มันสับสนวุ่นวาย พยายามจะทำอะไรให้สำเร็จไปเป็นเรื่องๆ แต่ก็ติดที่เขียนไม่ออก เขียนไม่ได้ จนกระทั่งไปเจอบทความ “นักเขียนมือใหม่ ทำยังไงให้เขียนเก่งขึ้น” แล้วจุดประกายให้ ลองเขียนเรื่องอื่นดูบ้าง จะได้ผ่อนคลาย
ซึ่งเวลาที่พ่อแม่กังวลที่สุดก็ตอนที่ลูกน้อยป่วย ยิ่งเป็นทารกพ่อแม่ก็จะทุกข์ใจมาก ด้วยความที่ใหม่และยังไม่มีประสบการณ์ ระดับความเจ็บป่วยของเด็กก็ไม่เท่ากับ บางคนก็มีอาการเยอะ บางคนก็น้อย แล้วแต่ความแข็งแรงและภูมิคุ้มกันของแต่ละคน การแอดมิตเพื่อรักษา อาจไม่ใช่หนทางที่สะดวกสำหรับพ่อแม่เลย การปลุกเพื่อวัดไข้ เช็คตัว ทานยาทุก 4 ชั่วโมงเป็นอะไรที่โหดร้ายมาก แล้วจะโหดร้ายมากขึ้นหากลูกของเรา ทานยายาก ผมจะแชร์เทคนิคที่ทำให้ลูกน้อยของเราทานยาได้ง่ายขึ้นครับ
ลูกวัยไหนถึงหัดทานยาเม็ดได้?
ผมฝึกลูกตั้งแต่อายุ 3 ขวบ โดยแบ่งยาให้ตามน้ำหนักตัว (อ้างอิง ขนาดยาที่ใช้ในเด็ก)
สาเหตุที่ต้องฝึก
- รสชาติของยาน้ำไม่ได้อร่อยเสมอไป ส่วนใหญ่เวลาที่พาลูกไปพบคลินิก หรือ โรงพยาบาล แพทย์จะสั่งเป็นยาน้ำมาให้ ซึ่งยาน้ำมันก็มีหลายยี่ห้อ หลายรสชาติ คุณเคยชิมยาของลูกมั้ย? บางตัวรสชาติมันเฝื่อน มันชวนอ๊อกจริงๆ อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่ก็ทนกลืนมันไม่ไหว บ้านอื่นเขาอาจจะให้ผสมน้ำหวานหรือ ทานกับนม หรือ สิ่งอื่นๆ ที่เด็กชอบ แต่เภสัชก็จะคอยบอกว่า “อย่าหาทำ” บางอย่างมันจะไปลดหรือเพิ่มการออกฤทธิ์ของยาได้ ควรทานตามที่แพทย์สั่งจะดีที่สุด
- เปลืองพื้นที่จัดเก็บ ยาน้ำจะมาเป็นขวด พวกยาลดไข้ มันจะไม่ได้ทานหมดในครั้งเดียว ไม่เหมือนยาฆ่าเชื้อที่ต้องผสมน้ำและทานให้หมด ยาที่จะเหลือติดตู้ก็คือ ยาลดไข้, ยาแก้ไอ, ยาลดลายเสมหะ, ยาลดน้ำมูก, ยาขยายหลอดลม, ธาตุเหล็ก เป็นต้น แล้วเราจะเก็บไว้ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ในตู้เย็น แม้เภสัชจะบอกว่า เก็บในอุณหภูมิห้องได้ แต่บ้านเมืองเราร้อนขนาดนี้ บ้านไหนมีลูกน้อยขวดยาก็จะเต็มตู้เย็น จะเคลียร์ได้ก็ต้องที่ลูกป่วยบ่อย ๆ แต่คงไม่มีใครอยากให้ลูกป่วย
- วิธีการป้อนที่เห็นแล้วทรมานสายตา ภาพจำที่ไม่อยากเห็นก็คือต้องจับลูกรัดไว้ แล้วเอายากรอกปาก มันช่างน่าสมเพศ ความอดทนของคนเรามีจำกัด ล่อก็แล้ว หลอกก็แล้ว ลูกก็ไม่ยอมทานยา ไม่ยอมอ้าปาก จนต้องบังคับกัน ฉีดยาจากเข็มฉีดยาใส่เข้าทางกระพุ้งแก้ม ถ้าคนป้อนไม่เป็น ฉีดไปบนลิ้น บางครั้งเด็กก็บ้วนทิ้งหมด พาให้คนป้อนอารมณ์ขึ้น ถ้าบังคับมากๆ เด็กก็จะเข็ด ไม่อยากทานยา
วิธีฝึกลูกน้อยทานยาเม็ด
ลูกในวัย 3 ขวบ เขาเริ่มทานอาหารได้หลากหลายแล้ว ขนม ลูกอม นี่จัดว่าเป็นของชอบสำหรับเด็กวัยนี้ การหัดเด็กให้ทานยาเม็ด ผมเริ่มจากการทานวิตามินซี หลังจากอาบน้ำ แต่งตัวแล้ว เราให้รางวัลแก่คนที่ใส่เสื้อผ้าเอง ด้วยวิตามินซี คนละ 2-3 เม็ด แล้วแต่โอกาส คอยสังเกตุลูกด้วยว่าถ้าเคี้ยวยา ให้เขาอมใหม่ เพราะเราจะฝึกให้เขากลืนยา หลังจากอมยาในปากแล้ว
หลังจากเขาไม่เคี้ยววิตามินซีในปากแล้ว ทีนี้เราจะฝึกให้เขากลืนวิตามินซี โดยเราให้เขา 1 เม็ดก่อน โดยตกลงกันว่า เม็ดนี้ เราจะทานแบบกลืนลงคอ โดยทานพร้อมน้ำ เราจะเอาขวดน้ำดื่มหรือแก้วน้ำมาเตรียมไว้ ให้เขาฝึก พอเขากลืนน้ำลงคอไปแล้วให้สังเกตุโดยการให้เขาอ้าปาก ดูว่ายายังอยู่หรือป่าว ถ้าลงคอไปแล้ว เราจะให้รางวัลเขาเพิ่มอีก 2 เม็ด ครั้งนี้ให้อมได้ แต่ถ้าหากลูกกลืนน้ำไปแล้ว ยายังคาอยู่ในปาก ให้ฝึกกลืนยาก่อนและทานน้ำตาม จะช่วยให้ยาไม่ลอยเวลาทานน้ำ
หัดแบบนี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เขาไม่ลืมวิธีกลืนยา พอช่วงที่เขาป่วยจริงๆ เราจะบอกเขาได้ว่า อันนี้เป็นยาเม็ด ต้องกลืนพร้อมน้ำนะลูก ห้ามเคี้ยว พอทานยาจริงๆ แล้ว ก็ให้วิตามินซีไปอมเป็นรางวัล
ปัญหาที่ต้องเจอ
- แพทย์ไม่สั่งยาเม็ดให้ ซึ่งยาบางตัวมันไม่สามารถแบ่งโด๊สสำหรับเด็กได้ อันนี้ต้องยอมรับ
- ยาเม็ดที่ต้องเอามาแบ่งเอง มันจะตัดยาก และบางทีก็แตกทั้งเม็ดเลยก็มี
- ระวังลูกหยิบยาทานเอง ข้อนี้ควรระมัดระวังให้มาก
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่มีลูกน้อย ในการหัดให้ลูกทานยาเม็ดโดยไม่ต้องบังคับ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือของครอบครัว อย่าให้ใครคนใดคนหนึ่ง พยายามยัดเยียดให้ลูกทานยาน้ำ ทั้งที่เด็กมันต้องโต