ทำไมลูกค้าองค์กร นิยมใช้คอมพิวเตอร์แบรนด์ มากกว่าคอมประกอบ

เรื่องนี้เคยเห็นคำถามของเด็กหนุ่มที่เพิ่งเข้าทำงานใหม่ เห็นคอมพิวเตอร์ในที่ทำงาน เป็นคอมพิวเตอร์แบรนด์ สเปคต่ำ ไม่สมราคา ถ้าเอาราคานี้ไปซื้อคอมประกอบ จะได้สเปคที่สูงกว่าแน่นอน

ความคิดในเบื้องต้น

“เมื่อเทียบสเปคกันระหว่างคอมประกอบ กับคอมแบรนด์ มันก็แน่นอนว่าคอมประกอบ สามารถทำราคาได้ดีกว่า อะไหล่ก็หาเปลี่ยนได้ง่ายกว่า คอมแบรนด์แพง สเปคไม่คุ้มราคา”

พออยู่ ๆ ไป พบเหตุผลว่าทำไมต้องใช้เครื่องแบรนด์ โดยจะแจงรายละเอียดเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1. สะดวกและพร้อมใช้

คอมพิวเตอร์แบรนด์มันจะมาเป็นเซ็ต มีเคส จอ เมาส์ คีบอร์ด มาพร้อมใช้งาน ไม่ต้องไปแยกซื้อ ไม่ต้อง match ของเอง ไม่ต้องยุ่งยากว่า mainboard socket อะไร ใช้กับ cpu รุ่นไหน มันจัดมาจากโรงงานแล้ว การจัดสายก็ดี มีมาตรฐาน มีแผน driver มาให้ครบ หรือสมัยนี้ มันหารุ่นเครื่อง หรือเอา serial ไปเช็ค มันก็เป็นหน้าให้โหลด driver ได้แล้ว ทั้งหมดที่เครื่องรุ่นนี้ใช้งาน ทำให้ไม่ต้องไปหาหลายเว็บ ไม่ต้องไปโหลดหลายที่ มีทุกอย่างรวมไว้หมดแล้ว ทั้ง firmware, bios, utillity เป็นต้น บางรุ่นก็มี windows ติดตั้งมาให้แล้ว

ตัวเคสบางรุ่น เขาจะทำมาดีมาก มีกริ๊บล๊อค แบบที่เราไม่ต้องใช้ไขควงไขเพื่อเปลี่ยน Hardisk เลย แค่ดึงกริ๊บออก มันก็เลื่อนออกมาอย่างง่ายดาย ซึ่งพอเห็นภายในเครื่องแบรนด์หลาย ๆ รุ่นแล้ว ไม่ต่างไปจากคอมประกอบ ที่ใส่เคสแพงๆ เลย การจัดสายก็ดูมีมาตรฐาน ไม่แกะกะ ถาดที่ปิด PCI, PCIe ก็ทำออกมาดี ไม่ต้องงัด port USB มีให้ใช้เหลือเฟือ ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง

Mouse & Keyboard มาเป็นเซ็ตเดียวกัน สามารถเครมได้ที่บริษัทเดียวกัน ถ้าอยู่ในระยะรับประกัน

2. มีประกันและบริการหลังการขาย

มันแพงตรงนี้ มันแพงเพราะมีประกัน มันมีค่าใช้จ่ายที่เขาต้องดูแลเรา เขาต้อง support เราตลอดอายุการรับประกัน เขาต้องสำรองอะไหล่ ตลอดระยะเวลารับประกัน เขาต้องจ้างคนมาคอยเปลี่ยน คอยเช็คอุปกรณ์ที่เสีย ณ จุดติดตั้ง หรือที่เรียกว่า on site service เขาต้องมีค่าน้ำมัน มีค่าขนส่ง บลาๆๆ นั่นคือ cost ที่ต้องจ่าย ซึ่งการรับประกันมันก็มีเงื่อนไข ส่วนใหญ่แล้วเขาก็รับประกันทั้งตัวเครื่อง ทุกชิ้น สามารถเครมได้ ถ้าเป็นคอมประกอบ เราจะต้องมาดูว่า อุปกรณ์ตัวไหนหมดประกันเมื่อไหร่ แล้วคอยเครมทีละชิ้น ถ้ามันเสีย บริษัทรับเครมก็คนละที่กัน ซึ่งมันมีความยุ่งยากอยู่ในนั้น

3. มีมาตรฐานรองรับ

มันมีหลายมาตรฐานที่จะต้องได้รับการรับรอง ซึ่งไม่ว่าจะมาตรฐานตัวผลิตภัณฑ์เอง หรือ มาตรฐานจากภายนอก เช่นการตอนคอมไฟล์กับมาตรฐานกลาง เช่น ISO, ITIL, JCI อะไรทำนองนี้ พอมันมีเรื่อง “ระบบสารสนเทศ” เข้ามาเกี่ยวข้องกับมาตรฐาน มันจะมีเงื่อนไขระบุไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ หรือ คอมพิวเตอร์ที่เราใช้ในระบบสารสนเทศ มีมาตรฐานอะไรรองรับ มีการรับรองความปลอดภัยหรือป่าว อย่างน้อยก็ต้องมี CE, UL รับรองถ้าเป็นฝั่งยุโรป ฝั่งอเมริกา กับจีนก็ต้องมี

ซึ่งมาตรฐานตัวนี้มันสำคัญกับการ “ตอบคำถาม” ของคนที่ตรวจมาตรฐาน มันช่วยให้เราไม่ต้องลำบากใจ ไม่ต้องหากระบวนการอื่นมาเพื่อรับรองมาตรฐาน เพราะตัว product ที่ใช้มันรองรับและคอยสนับสนุนมาตรฐานอยู่แล้ว

4. ความทนทาน

ยกตัวอย่างคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานในโรงพยาบาล มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือเครื่องที่เปิดเมื่อใช้ทำงาน กับ เครื่องที่ไม่เคยปิดเลย ต้องเปิดเครื่อง 24/7 มันต้องทำงานทั้งปี เต็มที่คือการ restart มันจะใช้จนหมดอายุไขหรืออัพเกรดไม่ไหวแล้ว ซึ่งมันส่งผลต่อการให้บริการผู้ป่วย หากคอมพิวเตอร์หรือระบบสารสนเทศให้บริการไม่ได้ มันก็ส่งผลต่อการรักษาทันที ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัว ความทนทานของเครื่องแบรนด์จะมีมากกว่าคอมประกอบ

สรุป

คอมแบรนด์ เหมาะกับ องค์กรมากกว่า คอมประกอบ เนื่องจากมันลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ไอที ที่คอย support เครื่อง อาการเสียของอุปกรณ์ภายในเครื่อว เราไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์เอง เราแจ้งแล้วให้ dealer ส่งพนักงานเข้ามาเปลี่ยนให้ หรือ ส่งเครื่องไปเครมในกรณีที่มีการชำรุด หรือ บกพร่องจากตัวอุปกรณ์เอง อาทิ จอภาพลาย, เครื่องมีปัญหาการติดตั้ง OS, เครื่องอยู่ขึ้น bluescreen ซึ่งส่วนใหญ่แบรนด์ที่มีมาตรฐานของทวีป มันจะไม่ค่อยมีปัญหา เวลาซื้อก็ดูด้วยว่าแบรนด์ที่เราจะซื้อได้มาตรฐานอะไรมาบ้าง มีการรับรองอะไรมาบ้าง ไม่ใช่ทุกแบรนด์จะดีเสมอไป ให้ดูมาตรฐานที่เขาได้รับการรับรองด้วย