ม อ ง ข้ า ม

Overlook เป็นคำตรงตัวดีแฮะ ภาษาไทยก็หมายถึง “มองข้าม” เท่าที่ผมดูใน Dictionary มันก็มีความหมายและการใช้งานใกล้เคียงกับภาษาไทยมาก ๆ เช่นเดียวกับคำว่ามองข้าม ซึ่งมีทั้ง การมองข้ามปัญหา มองข้ามอุปสรรค การถูกมองข้าม การละเลย ซึ่งกริยาพวกนี้ก็ส่งผลทั้งทางด้านดีและไม่ดี

ก่อนจะเล่าว่าทำไมถึงคิดถึงคำ ๆ นี้ขึ้นมา เนื่องจากไปดูงานที่ต่างจังหวัด และได้พบกับกระบวนการต่างๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งคิดว่าน่าจะลองเอามาปรับใช้ดู หรือ ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดู ว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะทำตามกระบวนการที่ได้เรียนรู้มานั้น จนกลับมาที่ ๆ ทำงานอยู่ ได้พูดคุยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ ที่เขาอยู่มาก่อน ที่เขารู้และเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ดีกว่าเรา พูดคุยกันถึงกระบวนการที่ไปเรียนรู้มาว่า มีความเป็นไปได้มั้ยที่จะทำ

และแล้วก็พบว่า มันมี บ า ง อ ย่ า ง ที่เรา ม อ ง ข้ า ม ไป

นั่นคือ ” ข อ ง ดี “ ที่เรามีอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จักหยิบมาใช้ และไม่เคยรู้ว่ามันมี ซึ่งมันสามารถตอบคำถาม ตอบสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาทั้งหมดได้ภายใน ไม่กี่นาที ทำให้รู้สึกว่าการดูงานข้างนอก ใช้เวลาเป็นวันๆ ช่างเสียเวลาเปล่า

มันเหมือนคำที่ว่า

“อ่านหนังสือ สิบครั้ง ก็ไม่เท่ากับถามผู้รู้แจ้งครั้งเดียว”

แต่

“ถามผู้รู้แจ้งสิบคน ก็ไม่เท่าลงมือทำ”

ซึ่งพอมาทบทวนดูแล้ว ทำให้พบว่าการมองข้ามนั้น มันมีทั้งข้อดีและข้อเสียจริง ๆ ข้อดีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ สิ่งที่เรามองข้ามนั้นมันส่งผลกระทบต่อตัวเรา ในด้านจิตใจ ในด้านกำลังใจ สิ่งที่มาลดทอนพลังในการทำงาน ควรมองข้ามมันไปซะ และมุ่งไปยังเป้าหมายที่ชัดเจน

ส่วนการมองข้ามที่ไม่ดี ก็คือการละเลย การไม่สนใจ การไม่เอาใจใส่ในสิ่งที่ทำ มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เอาแต่มอง overlook ไกล ๆ มองแต่เป้าหมาย แต่ไม่มองเลยว่า ก้าวข้างหน้าอาจจะเป็นเหวลึกก็ได้ หากทางข้างหน้าลำบากก็ให้เดินอ้อมไป มันยังมีหนทางอื่นที่ไปสู่เป้าหมายได้อีกมาก หากเราไม่มองข้าม พยายามมองหาสิ่งที่มีคุณค่าที่อยู่รอบตัว เมื่อเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น จะทำให้ก้าวต่อไปชัดเจนและมั่นคง

สรุปแล้วเราจะละเลยหรือมองข้ามสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพียงเพราะว่ามันไม่ดี ไม่ได้! เราต้องพินิจพิจารณาด้วยว่า ที่เห็นไม่ดีนั้น มันไม่ดีอย่างไร ที่เห็นว่าดีนั้น มันดีจริงหรือไม่?

ภาพประกอบจาก : http://talk2trip.com/2008/09/doi-phu-kha-national-park-doi-phu-wae-3.html