เมื่อหมากลับใจ

ความรู้สึกที่ผมคงเรียกมันว่า “หมากลับใจ” ซึ่งความรู้สึกของหมา-กลับ-ใจ เมื่อก่อนผมก็ไม่เข้าใจมันหรอกว่ามันเป็นความรู้สึก ความคิดแบบไหน มีลักษณะยังไง และเมื่อนานมาแล้วผมเคยขับรถชนหมากลับใจตัวนึง ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่ามันเป็นตายร้ายดียังไง (ความเดิม https://moremeng.in.th/2014/12/dangerous-dogs-on-roadside.html)

ความรู้สึกของหมากลับใจคืออะไร?

มันคือความกลัว ความวิตกกังวล กับเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิด กลัวการตัดสินใจ ซึ่งจุดที่คุณต้องเลือก หรือจุดที่คุณจะเลือกสิ่งไหนจะดีกว่ากันนั้นตอบไม่ได้เลย เพราะคุณไม่รู้และคุณกำลังกลัว

คุณเคยมีความรู้สึกเหมือนคนที่กำลังเดินไปถึงครึ่งทางแล้วเกิดความลังเลมั้ย ว่าจะไปต่อหรือย้อนหลังดี

คุณเคยเดินเข้าไปในบ้านที่คุณไม่คุ้นเคย แล้วเจอห้องๆหนึ่ง ที่คุณยืนลังเลอยู่ว่าจะเปิดเข้าไปหรือไม่เปิดดี

คุณเคยเดินเลือกดูสินค้าในห้างแล้วยังไม่ซื้อ จนคุณเดินออกมาจากห้าง คุณยืนลังเลอยู่ว่าจะกลับไปซื้อหรือกลับบ้านดี

คุณเคยได้รับคำเชิญจากเพื่อนว่าหลังเลิกงานว่าจะไปเที่ยวต่อ แต่คุณยังไม่ให้คำตอบเพราะลังเลว่าจะไปหรือไม่ไปดี

คุณเคยแอบชอบคนๆหนึ่ง แต่คุณยังไม่กล้าพอที่จะบอก จนคุณมีโอกาสที่จะบอกแต่คุณกลับทิ้งมันไป และมาคิดได้ว่า รู้งี้บอกไปซะก็ดี

รู้งี้…ซะก็ดี

ประโยคสุดคลาสสิค ที่ใช้กันมาหลายยุคหลายสมัย มันจะดีกว่ามั้ยถ้าการตัดสินใจอะไรซักอย่างนั้น เป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องที่ไม่ต้องคิดทบทวนไปมา ในเวลาที่กระทันหัน ในเวลาคับขัน ที่มันมีทางเลือกแค่ 2 ทาง นั่นคือ ซ้าย หรือ ขวา สิ่งที่ผมจะบอกมันคือสิ่งที่คุณต้องฝึกการวางแผนชีวิต คาดการณ์ล่วงหน้า มองให้ไกลขึ้น ฝึกจินตนาการ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน

คุณมักจะพกร่มออกจากบ้านเสมอ เมื่อเข้าฤดูฝน

คุณมักจะซื้อเทียนติดบ้านไว้ เมื่อเข้าฤดูฝน

คุณจะพกเงินนอกกระเป๋าสตางค์ ติดไว้กับตัวเสมอเวลาออกไปนอกบ้าน

คุณจะเตรียมชุดเสื้อผ้าใส่กระเป๋าไปมากกว่าจำนวนวันที่คุณไปเที่ยว

คุณจะเลือกอ้อมไปในทางที่เร็วกว่า ทางที่รถติดโดยเฉพาะช่วงเลิกงาน

คุณจะเริ่มทำตารางทบทวนบทเรียน ก่อนการสอบจะมาถึง

คุณจะเตรียมเหรียญ 25 สตางค์ เมื่อซื้อของที่คุณเคยซื้อประจำๆ

สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เพียงแค่การคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า แต่มันเป็นสันชาตญาณที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ของเราเอง สิ่งที่เรารับรู้ในที่นี้คือ สิ่งที่เราทราบดีว่ามันจะเกิดอะไร และผลลัพท์มันจะเป็นอย่างไรต่อ เมื่อเรามองเห็นจุดนี้แล้ว มันจะง่ายมากต่อการตัดสินใจของเรา ถ้าคุณรู้ว่า ณ เวลาต่อจากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้น คุณจะไม่ลังเลกับการตัดสินใจอีกต่อไป ผมก็แนะนำอะไรไม่ได้ เพียงแต่เราต้องฝึกด้วยประสบการณ์ของเราเอง เรียนรู้ด้วยตัวเอง หัดสังเกตุและเรียนรู้ สิ่งที่เกิดซ้ำๆ ร่างกายมันจดจำได้ก็จริง แต่ร่างกายมันไม่สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ สิ่งที่ช่วยเราคือ “สติสัมปชัญญะ”

อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลย จนถึงจุดที่ไม่รู้จะเดินต่อ หรือ หันหลังกลับดี จะไปต่อก็กลัวข้ามไม่พ้น จะหันหลังกลับก็ไม่อยากไปตั้งต้นใหม่ นี่แหละหนา “หมากลับใจ”