นักการเมืองกับพ่อค้า

ทุกวันนี้เกิดสงสัยขึ้นมาว่า เพราะเหตุใด ทำไมบ้านเมืองเรามันถึงวุ่นวายได้ขนาดนี้นะ หันไปทางโน้นก็ปัญหาการเมือง หันไปทางนั้นก็ปัญหาสังคม จนไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหนดี ถึงจะมีทางออก มันก็ไม่เหมือนที่เขาว่า “ทุกปัญหามีทางออก” แต่ดูเหมือนมันจะเป็น “ทุกทางออกมีปัญหา” ไปเสียแล้ว

วันนี้คงจะต้องเลือกกันแล้วละว่าระหว่าง “นักการเมือง” กับ “พ่อค้า” จะเลือกใครมาทำงาน ส่วนตัวคงตัดสินใจได้ไม่ยากนัก หากต้องการ “กำไร” แน่นอนที่สุดว่าต้องเลือก “พ่อค้า” เข้ามาดูแลบริหารจัดการบ้านเมืองแน่นอน เพราะหากไปเลือกนักการเมืองเข้ามา บ้านเมืองก็จะวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมันก็จะมีแต่ “นักการเมือง” ทำได้แต่เล่น “การเมือง” ไม่ได้สร้าง “กำไรเมือง” ให้เป็นกอบเป็นกำเสียที

ยกตัวอย่างจังหวัดหนึ่ง ในประเทศหนึ่ง ซึ่งจังหวัดนี้มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะด้านโบราณคดี ไม่ว่าจะแหล่งช๊อปปิ๊ง เป็นเมืองที่ดูท่าจะไปได้ไกลในด้านการท่องเที่ยว คงจะเรียกแขกได้มากโขเลยทีเดียว หากเป็นไปดั่งคาด ผู้คนในเมืองนี้ก็จะมีรายได้จากการท่องเที่ยว มีงานทำในจังหวัดของตัวเอง ไม่ต้องไประหกระเหิน เดินตากแดดตากลมในเมืองใหญ่ใฝ่สูง แต่กลับกลายเป็นว่า มันไม่ดีดั่งที่วาดฝันไว้ เพราะปัญหาการเมืองลุมเล้า แบ่งสีสันกันชัดเจน แปะป้ายโฆษณาหาเสียงทั่วเมือง ทั้งๆ ที่ป้ายบอกทางของนักท่องเที่ยวแทบจะหายากเต็มที บ้างก็ติดเป็นภาษาบ้านเกิด ซึ่งชาวต่างชาติก็ต้อง เดาแบบ Snake Snake Fish Fish ว่าสถานที่ไหนไปทางไหน ทางจักรยานก็แสนจะอันตราย ทำเหมือนรองบประมาณก่อสร้างปีต่อๆไป ชาติหน้าก็คงไม่เสร็จ ไฟจราจรมีก็เหมือนไม่มี รถชนกันทุกวัน จับหมวกกันน๊อคกันทุกวัน ไม่รู้ว่ากฏหมายมันไม่มี หรือไม่มีใครเคารพกฏหมายกันแน่

ถนนหนทางบางที่ก็นึกว่าเป็นดวงจันทร์ มีหลุดอุกาบาตรตกอยู่เต็มไปหมด บ้างก็มีท่อผุดขึ้นมากลางถนนหนทาง บ้างก็ทำแล้วขุด ขุดแล้วทำ มันเสร็จไม่สิ้น ขอบทางก็ปรับปรุงกันทั้งปี ต้นไม้เป็นแสนต้นเปลี่ยนไปจนงบประมาณแตกปลาย โตได้ไม่กี่แดดก็เหี่ยวตาย เพราะไม่มีใครสนใจจะดูแล พอแห้งเหี่ยวก็เปลี่ยนใหม่ ทำยังกับดอกไม้พลาสติก แล้วขยันจัดงานให้ร้านค้ามาขายของ เป็นตลาดนัดกลางเมือง คนขายก็หน้าเดิมๆ ร้านเดิมๆ ไม่เห็นจะแตกต่างกันตรงไหน จะเปลี่ยนไปก็แต่ชื่องาน เทศกาลโน่นนั่นนี่ ทั้งปีทั้งชาติ สิ่งที่ตามมาก็ขยะมโหราฬจากน้ำมือนักท่องทั่ว มาเที่ยวแล้วก็ทิ้ง ทิ้งไว้ก็กลายเป็นภาระของเมืองที่ต้องจัดการขยะให้พ้นๆ ไปจากเมือง ด้วยการเอาไปกองไว้นอกเมืองหลบสายตาผู้คน จนกลายเป็นภูเขาเลากา คนผ่านไปผ่านมาก็คิดว่าคงเป็นคันกั้นน้ำสูงเท่าตึก 3 ชั้น

ใกล้จะเข้า AEC เข้าไปทุกทีแล้ว พื้นที่ก็ยังเหมือนเดิม ป้ายก็เหมือนเดิม ร้านค้าก็เหมือนเดิม ไม่เห็นจะรู้สีรู้สาตรงไหน ว่าจะเข้า AEC แล้วต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไร เมนูอาหารก็ยังเป็นภาษาบ้านเกิด ฝรั่งก็ฟุดฟิดฟอไฟ สั่งผัดไท กับ เบียร์กินแก้หิว เพราะไม่รู้จะกินอะไร ก็ I อ่านเมนูไม่ออก แล้วยังมีหน้าจะมาเสนอหน้าเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกอีก มันจะรอดมั้ยนี่?

แล้วนักการเมืองกับพ่อค้ามาเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้?

จากภาพจะอธิบายให้เห็นถึงมุมมองของนักการเมืองกับพ่อค้า ว่ามันมีบางอย่างที่แตกต่างกัน

แหล่งท่องเที่ยว – นักการเมือง

  • ซื้อพื้นที่ในแหล่งท่องเที่ยว หรือใกล้แหล่งท่องเที่ยว เพื่อเป็นที่พักตากอากาศส่วนตัว กับบ้านพักหรูหรา
  • นักท่องเที่ยวก็เหมือนแขกต่างถิ่นมาเยี่ยมเดี๋ยวก็ไป
  • ธุรกิจใดทำข้ามหน้าข้ามตา เดี๋ยวโดยสอย ถูกกีดกันทางการค้า ออกกฏหมายห้ามโน่นนั่นนี่ เพื่อพวกพ้องตัวเองจะได้ผลประโยชน์

แหล่งท่องเที่ยว – พ่อค้า

  • ซื้อหรือเช่าพื้นที่ในแหล่งท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
  • ลูกค้าคือพระเจ้า
  • ให้ธุรกิจอื่นได้เข้ามาหากินได้ เพราะต้องพึ่งพาธุรกิจอย่างอื่นเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวที่สร้างไว้ ทำให้คนมีกินมีใช้ ได้มีงานทำ

ที่ไร่นา – นักการเมือง

  • เล็งหาที่นา ขายให้นายทุน หรือเก็บไว้เก็งกำไรตอนสร้างถนน สร้างโน่นนั่นนี่ สนองนโยบายของตน
  • ทำเป็นช่วยเหลือ สนับสนุนเรื่องต่างๆ พอทำมากกันจนล้นตลาด ก็หาที่ซื้อไม่ได้ เพราะไม่รู้จะขายใคร
  • สร้างภาระหนี้สิน วาดฝันให้สวยหรูดูดี

ที่ไร่นา – พ่อค้า

  • หาพื้นที่เพราะปลูก ทำเลการทำเกษตรกรรม ตามความต้องการของตลาด
  • หาตลาดก่อนหาผลผลิต
  • จ้างงาน เปิดโรงงานแปรรูป รับซื้อผลผลิตไปขายต่อ

มันช่างต่างกันเหลือเกิน กับการให้พ่อค้ามาเป็นชาวนา พ่อค้าก็ใช้ควายไถนา พ่อค้าก็ขายข้าวได้ มีหญ้ามีอาหารมาบำรุงควาย ควายก็มีแรงทำนาให้พ่อค้า แต่กลับกัน ถ้าเป็นนักการเมืองก็คงเอาควายไปขาย เพื่อแลกที่นา แล้วเอาที่นามาขาย หรือให้พ่อค้าเช่าเพื่อใช้ควายมาทำนา แต่เมื่อไม่มีควาย พ่อค้าก็ไม่ได้ผลผลิต นักการเมืองก็ไม่ได้ค่าเช่า ก็เน่ากันไปทั้งกระบุง ล้มกันไปเป็นแถบๆ ……อนิจจาพ่อค้ากับควาย