ป่าความคิด

“ความคิด” เป็นคุณสมบัติส่วนตัวเฉพาะบุคคล จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับทักษะประสบการณ์ ขนาดของความคิดจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับกำลังที่จะสานต่อ เมื่อมีหลายคน หรือหลายหัว รวมกันมากขึ้นๆ ต่างคนก็ต่างคิด ทั้งๆที่เป็นคนเหมือนกัน แต่คิดไม่เหมือนกัน เพราะเราไม่เหมือนกัน ก็ไม่ต่างจาก “ป่า” ที่มีความคิดเป็นต้นไม้นานาพรรณ ซึ่งต่างก็ไม่เหมือนกัน ต้องการอาหาร แสงแดด และการดูแลไม่เหมือนกัน บ้างยืนต้น บ้างไม้เลื้อย บ้างก็กาฝาก ต่างก็ไม่เหมือนกัน แต่เป็นพืชเหมือนกัน

“ป่าความคิด” ก็เสมือนพงไพรแห่งความคิดของมนุษย์ ที่จะอยู่รอด หรือ จะรั่ว ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะดูแลรักษาความคิดเราได้ดีมากน้อยแค่ไหน ความคิดยิ่งใหญ่ ถ้ามีปัจจัยเกื้อหนุน เป็นรากฐานที่แข็งแรง มันก็ย่อมจะเติมโตเป็นไม้ใหญ่ขึ้นมาได้ พร้อมที่จะแผ่กิ่งก้านสาขาออกไป เพื่อให้ร่มเงา เพื่อผลิดอกออกผล ให้เติบใหญ่ต่อไปในภายภาคหน้า ไม้เลื้อยก็เป็นไม้ที่ขึ้นบนดิน แต่ต้องอาศัยความคิดคนอื่น เพื่อพยุงตัวเองให้สูงขึ้น เติบโตขึ้น เพราะไม่มีรากฐานที่มั่นคงพอจะพยุงตัวเองให้ตั้งตระหง่านได้ บ้างก็ดี ที่ให้ความชุ่มชื่นแก่ไม้ใหญ่ ค่อยเอื้อประโยชน์และแลกเปลี่ยนความคิดกัน ทำให้พึ่งพาอาศัยกันไปได้ตลอดรอดฝั่ง

บ้างก็เป็นไม้เลื้อยเนรคุณ คือไม้ที่เลื้อยไปจนสุดปลายของไม้ใหญ่ได้แล้ว เมื่อมันแผ่กิ่งใบออกปกคลุมไม้ใหญ่ ทำให้ต้นที่มันเกาะนั้นเหี่ยวเฉาและตายลงในที่สุด นี่ก็อาจจะเป็นธรรมชาติทางความคิดก็ได้ ที่คนที่โดดเด่น หากไม่มีเกาะกำบังไม้เลื้อยแบบนี้ก็คงต้องหักโค่นลงมาซักวัน เพราะอนิจจัง อนัตตา สังขาร ไม่เที่ยง ไม้อีกประเภทก็เป็นดั่งไม้เล็ก พุ่มหญ้า ที่ไม่ต้องอาศัยแสงแดดมากนัก คอยอาศัยร่มเงาจากไม้ใหญ่ หรือเก็บตกความคิดของผู้ที่สูงกว่า อยู่ภายใต้แนวคิด และหลักการของผู้บังคับบัญชา มีขอบของเงาที่แน่ชัด ค่อย เติบโตเป็นไม้พุ่งสวยงาม โดยไม่ไปทำลายไม้ใหญ่ และไม่เป็นภัยกับไม้เลื้อย อาศัยความชุ่มชื้นเพื่อปกคลุมให้มีชีวิตรอดอย่างผาสุข ความคิดแบบนี้จะเรียกว่า “พอเพียง” ก็ไม่ผิด คือ พอใจในชาติกำเนิด อยู่อย่างพืชที่รู้ว่าควรอยู่จุดไหน ไม่ต้องแสวงหาความสุขในแนวดิ่ง เพราะยิ่งดิ่งมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งมีความสูง-ความต่ำ ที่แตกต่างกันเท่านั้น

ไม้ที่เกิดมาเพื่ออาศัยอยู่ในแนวระนาบ อยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แสวงหาความสุขในแนวราบ ที่ไม่มีสิ้นสุด เหมือนน้ำที่หยดลงบนหิน มันจะกระจายออกไปทุกทิศทุกทาง ที่มันไปได้ จนไหลซึมสู่ดิน ที่เงียบสงบ สู่ธรรมชาติอันเป็นจริง

“ป่าความคิด” นี้จะคงอุดมสมบูรณ์ได้ หากไม่มี “มนุษย์” ที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของ “ความคิดของป่า” ได้ใช้ใจอันหยาบทราม เข้ามาตัดกิ่งก้านสาขา โค่นไม้ใหญ่ ลงต้นแล้วต้นเล่า เพื่อนำความคิดนั้นไปแปรรูป เป็น “ผลิตภัณฑ์” เป็น “เฟอร์นิเจอร์” สวยหรู หรือ แค่เพียงเศษของความคิดของป่า ที่ทำลายต้นความคิด เพียงเพื่อโฉบฉวยโอกาส เพื่อสร้างกำไรในกิเลสแห่งตน

…แล้วไฉนไม้ยืนต้นจะหาญกล้าผลิดอกออกผลได้อีกเล่า ในเมื่อมีมนุษย์รอตัดแต่งผลประโยชน์กันอย่างไม่แยแสป่าแห่งความคิด เพียงเพื่อต้องการ “ไม้ประดับ” ที่ถูกใจ กว่าต้นความคิดจะเติบใหญ่ได้ ต้องผ่านเวลา ผ่านร้อนฝนหนาวมาเท่าไหร่ กว่าจะแข็งแกร่งได้ ก็ล้วนแต่ผ่านอะไรมานับไม่ถ้วน แต่กลับต้องกลายมาเป็นเพียง ไม้ไร้ต้น ที่เหลือเพียงแต่ราก รอวันตาย หรือพอมีเรียวมีแรงแตกกิ่งใหม่…

“ถ้าโลกใบนี้ไร้ป่าที่รังสรรค์สิ่งใหม่เสียแล้ว เราจะไปลอกเลียนแบบสิ่งใด”