ของเล่นวัยเด็ก รถแต่งทามิย่า ในการ์ตูน นักซิ่งสายฟ้า

ในสมัยเด็ก ๆ ใครที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2520 – 2530 จะรู้จักเจ้ารถซิ่งทามิย่า (tamiya) กันดี แต่ก่อนบ้านเราเล่นกันแต่รถไขลาน รถบังคับแบบมีสาย หรือ ใครบ้านมีฐานะหน่อยก็จะเล่นรถบังคับไร้สาย ซึ่งตอนนั้นราคาแพงมาก และคันใหญ่ รีโมทควบคุมอันใหญ่ ๆ แต่พอมีกระแสรถทามิย่าเข้ามา ทำให้มีร้านขายอุปกรณ์แต่ง เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทางร้านก็จะลงทุน ซื้อรางมาต่อ ให้เด็ก ๆ ได้ลองรถกัน รางใหญ่ๆ ก็จะมี 4 เลน ถ้าต่ำมาหน่อยก็จะมี 2 เลน ผมจะเป็นคนแก่เล่าความหลังให้ฟัง แต่ก่อนนี้ช่วงปิดเทอมผมจะถูกส่งไปอยู่ จ.ลพบุรี ไปอยู่กับน้า กับน้อง 2 คน ซึ่งไปอยู่นั่นผมก็ไม่ได้ทำอะไรมาก ส่วนใหญ่จะนั่งเล่นเกมส์อยู่ที่บ้าน ไปเตร็ดเตร่ข้างนอกไม่ค่อยได้ เพราะไม่ค่อยรู้จักพื้นที่เท่าไหร่ และสมัยนั่นที่นั่นจะมีร้านที่ขาย ตลับเกมส์ FR หรือที่คุ้นๆหูว่า Famicom ยี่ห้อสุดฮิตคือ Family ซึ่งร้านนี้เองเขาไม่ได้เพียงขายเท่านั้น เขายังให้เช่าตลับเกมส์อีกด้วย ผมก็ไปเช่ามาเล่น เบื่อแล้วก็เอาไปเปลี่ยน ทำให้ปิดเทอมของผมมันไม่่น่าเบื่อ และวันหนึ่งผมได้เดิมผ่านร้านขายของเล่น เห็นกล่องรูปรถ ซึ่งตอนนั้นเรียกชื่อไม่ถูก ผมเรียกมันว่า “รถแดช” มาจากคำว่า dash ที่แปลว่า “ชน” นั่นแหละครับ เพราะมันจะวิ่งชนจริงๆ ก็มันตรงอย่างเดียวนี่นา จำได้ว่ายี่ห้อแรกที่ซื้อมาเป็น “ตราเพชร” ซึ่งมันจะมีสีและรูปลักษณ์เหมือน tamiya ต่างกันที่เป็นรูปเพชร กับรูปดาว ครั้งแรกที่ผมซื้อเล่นนั้น กว่าจะประกอบได้ ใช่เวลาอยู่หลายชั่วโมง

ในกล่องจะมีอุปกรณ์มาให้ มีคู่มือ ที่เป็นภาษาญี่ปุ่น ผมเองก็อ่านไม่ออกเสียด้วย แต่อาศัยการเดาจากตัวเลข ที่เขาเขียนมาให้ จนสำเร็จก็เอาไปวิ่งเล่นกันเลย ซึ่งคันนี้ก็เล่นได้ไม่นาน แต่หลังจากนั้น ตอนที่ผมเข้าศึกษาในระดับมัธยม ทำให้มีเพื่อนเยอะขึ้น และเพื่อนได้เอารถแดช ที่ว่านี้มาเล่น มาประกอบ และทำให้ผมได้รู้จักร้าน ที่จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ คราวนี้ละ! มันเหมือนฝันของเด็กที่มีจินตนาการสุดกู่ ผมก็ลงทุนซื้อล้อซื้อ มอเตอร์ มาใส่เพื่อความแรง เกราะรถก็เอามาเจาะ ใส่ตะแกรง เพิ่มโน้น เพิ่มนี่ ลองย้อนมองจิตนาการตอนเด็กๆ นะครับ ว่ามันบรรเจิดขนาดไหน หลังจากนั้น ทุกวันที่มาเรียน พวกผมก็จะถือกล่องเครื่องมือที่ใส่รถแดชอยู่ข้างใน มาโรงเรียนทุกวัน ซึ่งผมไปโรงเรียนเช้ามาก ถึงประมาณ 7 โมงทุกวัน ตอนเช้าก่อนเคารพธงชาติ พวกผมก็จะรอเพื่อนๆ จนครบแก๊งค์ มีอ๋อม(ฐิติพงศ์) โน๊ต(วรรณธนะ) โก้(อมรเทพ) ไก่(สรายุทธ) เปิ้ล(ศิรสิทธิ์) เบิร์ด(มารุธ) คนอื่นนึกไม่ออกแล้ว (ว้าว…ผมจำชื่อจริงมันได้ไงเนี่ย) และสนามแข่งรถของผมก็คือ สนามบาส ซึ่งตรงนี้ต้องใช้รถที่มีศูนย์ล้อตรง และมอเตอร์ไม่แรงมาก เพราะถ้าแรงมาก จะทำให้ล้อด้านที่อยู่ติดกับมอเตอร์ หมุนไวกว่าล้อที่อยู่อีกฝั่ง แล้วรถก็จะหมุน ทางแก้ของผมคือ ทำให้ยางด้านที่ไกลกว่า มันมีวงที่เล็กลง จะทำให้ล้อหมุนไปพอดีๆ กัน

เพื่อแก้ปัญหารถหมุนวน พวกผมจึงใช้ร่องระบายน้ำ ที่อยู่่รอบโรงเรียน มีความลึกประมาณ 10 เซนติเมตร แล้ววิ่งตามรถกัน เป็นการเล่นที่บ้าบอ พอสมควร เพราะ นักเรียนคนอื่นจะนั่งคุย นั่งเล่นกันตามซุ้ม ตามโต๊ะประจำ แต่พวกผม วิ่งกันรอบโรงเรียนเลยครับ รู้สึกอายเหมือนกัน เมื่อมาคิดย้อนกลับไป จากนั้นยังไม่พอ ที่ตึก 5 ชั้น ซึ่งตอนนั้นเปิดใหม่ ชั้น 5 จะไม่มีการเรียนการสอน พวกผมจะขึ้นไปในช่วงพักกลางวัน และสิ่งที่ทำก็คือ เอาโต๊ะเรียนมาวางนอนต่อๆ กัน ให้เป็นรูป วงรี จนทั่วห้อง เพื่อใช้เป็นสนาม จากนั้นผมก็ปล่อยรถวิ่งกันเลยครับ พอหลัง ๆ เริ่มมีคนรู้จัก เริ่มมีเพื่อนห้องอื่นเข้ามาเล่นด้วย ต่อมาได้มีวิวัฒนาการขึ้น จากรถที่ซื้อมาประกอบ ตอนนี้ผมใช้เพียงโครงของรถด้านล่างเท่านั้น และใส่อุปกรณ์แต่งเข้าไป ตอนนั้นเองมีร้านที่เป็นสนามแข่งอยู่เยอะแยะไปหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้า อย่างฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต ถ้าผมได้มาผมก็จะไปยืนดูเขาลองรถกัน ซึ่งตอนนั้นเห็นความเร็วที่เขาทำได้ แทบไม่เชื่อสายตาครับ มันไวมาก จนเรามองไม่เห็นตัวรถเลย จะได้ยินแต่เสียงที่ “โรลเลอร์” กระทบกับของสนาม และการหยุดรถของเขาคือใช้ผ้ารองมือ ไม่เช่นนั้น มืออาจจะถูกรถชนจนได้รับบาดเจ็บได้

และคนที่เอาความแรงมาสู่พวกผมคือ “เปิ้ล” มันเป็นคนที่ชอบทางด้าน อิเล็คทรอนิกส์ และมีพรสวรรค์ มันไปศึกษาเรื่องการ “พันขดลวด” เข้ากับแกนมอเตอร์ ซึ่งตามร้านแต่งรถแดช จะมี แกนมอเตอร์ แม่เหล็ก และขดลวดขาย ราคานั่นก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพ และการนำไฟฟ้าของขดลวด ผมจึงได้ศึกษาการพันขดลวดจากมัน ซึ่งช่วงนั้น ในห้องผมเหมือน อู่รถแดชเลยก็ว่าได้ ให้นึกภาพตามนะครับ เพราะผมไม่ได้ถ่ายรูปตอนนั้นไว้ เด็ก ม.2 ที่มีโต๊ะทำการบ้าน มีลิ้นชัก มีโคมไฟ มาหัวแร้งบัดกรี มีไขควง คีมตัดลวด มีดคัตเตอร์ และอุปกรณ์อื่นๆ เต็มโต๊ะไปหมด กำลังนั่งสาละวนกับการปรับแต่งรถแดช คันน้อย ๆ มีกล่องอุปกรณ์ แต่ละชิ้นแยกกัน เช่นฟันเฟืองทดรอบ ตลับลูกปืน (ลูกละ25บาท เกรด A) ยางอะไหล่ ก้ามปูรูปแบทแมน (เป็นกันชนที่แข็งแรงที่สุดแล้ว) โรลเลอร์ (เป็นอลูมิเนียม หรือพลาสติก ตรงกลางเป็นช่องสำหรับยัดตลับลูกปืนลงไปได้ ช่วยในการเลี้ยวโค้ง และลดการเสียดสีกับราง) ถ่านชาร์ทกับแท่นชาร์ดที่ใส่ถ่านได้ 8 ก้อน และมอเตอร์ มีหลายยี่ห้อ ตอนนั้นใช้ HYPER-DASH MOTOR (19,000 rpm 15 g-cm.) มีรูปอยู่ด้านล่างครับ

มอเตอร์ดำแดง
มอเตอร์ดำแดง

ราคาประมาณ 300 บาท ซึ่งรุ่นที่แรงกว่า ราคา 800-900 บาทเลยทีเดียว แต่เมื่อผมได้วิชามาจากเปิ้ลแล้วผมก็ ซื้อแกนมอเตอร์กับสายไฟมาพันเองครับซึ่งความแรงและอัตราการกินไฟ สูงกว่ามอเตอร์ที่ซื้อมาบางร้าน ถึงกับโมมอเตอร์เอง เพื่อขายเลยนะครับ ซึ่งราคาก็ย่อมแพงกว่าแน่นอน เพราะมันแรงกว่านี่ครับ ผมทึ่งในภูมิปัญญาคนไทยจริงๆ ทั้งนี้การพันสายไฟนั้นไม่ใช่ นึกจะพันก็พันได้ มันมีสูตรอยู่ครับ ว่ากี่รอบ และวนแบบไหน เอาซิ! คือผมได้ลองแล้ว ระหว่างพันเป็นชั้น กับพันมั่วๆ แล้วนับรอบเอา การพันตามสูตรนั้น ดีกว่า ซึ่งถ้าพันออกมาไม่ดี มอเตอร์จะมีอาการกระตุก แหว่ง หรืออาจจะกินไฟแบบวิ่ง 10 เมตรถ่ามหมดเลยก็เป็นได้ และการพันขดลวดต้องพันให้แน่น มือคุณจะปล่อยจากขดลวดไม่ได้เลยขณะพัน ต้องเอาคีมจับไว้ตลอด ห้ามให้หลุด ห้ามล้ม และต้องพันไปทางเดียวกันทั้ง 3 ด้าน ทั้งนี้ความแรงจะขึ้นอยู่กับพลังจากขั่วแม่เหล็กด้วย และสุดท้าย ผมก็ได้เอารถไปแข่ง ในตอนแรกนั้นผมได้มอเตอร์จากไอ้เปิ้ลมา ซึ่งตัวนี้มันโมมาให้ผมโดยเฉพาะ แต่วันแข่งจริง มันดันขอสลับกับของมัน สุดท้ายผมก็ได้ที่ 2 มา เพราะตัวที่มันโมมาให้ผมแรงกว่าของมัน มันได้ถ้วยกับเงินรางวัล 2000 บาท ผมเองได้ 1000 ซึ่งตอนนั้นถือว่าทำทุนไปแต่งรถเพิ่ม หลังจากนั้นผมกับไอ้เปิ้ลก็ตะแวนไปแข่งตามที่ต่าง ๆ ไปลพบุรี ไปสิงห์บุรี และจังหวัดใกล้เคียง จำไม่ได้ว่าที่ไหนบ้าง ผมลองประเมินราคาค่าแต่งและค่าอุปกรณ์ที่ใช้แต่งในรถผมนั้น ประมาณ 1500 บาท ซึ่งถือว่าสูงครับ สำหรับของเล่นเด็กเช่นนี้ และมีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นผมไป Big-C ลพบุรี ซึ่งเปิดใหม่ และสิ่งที่ผมไม่ลืมก็คือกล่องใส่รถแดช? ผมเอาเจ้ารถที่ผมโมดิฟายเองกับมือ ไปลองวิ่งในสนามของเขาดู เป็นภาพที่ประทับใจมาก (โฮ่ๆ) เพราะตอนที่ผมเอารถลงรางนั้น มีแต่คนจ้องดู และเอารถของตัวเองขึ้นกันหมด (แบบว่ารถมันแรงกว่า เลยต้องหลีก) ผมก็ปล่อยรถให้วิ่งอยู่ประมาณ 7 รอบ และภาพสุดท้ายที่ทำให้ผู้คนตกตะลึงก็เกิดขึ้น เมื่อผมเอาผ้ารองมือ เพื่อจับรถ แต่!! พอรถของผมมันชนกับผ้ารองแล้ว เจ้าโครงรถที่ผมดัดให้มันลาดกับพื้นมากที่สุด มันดันหักกลาง ส่วนหน้ารถกับมอเตอร์อยู่ในมือผมครับ แต่ “ท้ายรถกับถ่าน” กระเด็นไปคนละทิศละทาง มีเสียงพูดขึ้นจากคนดูว่า “เฮ้ย..หักเลยหรอวะน่ะ” หลังจากหายตกใจผมก็เดินไปเก็บถ่าน เก็บซากรถเข้ากล่องและเ้ดินหนีไปทันที (โฮ่ๆ แอบดีใจ)

เมื่อมียุคที่เฟื่องฟูของรถแดช (เป็นช่วงเดียวกับการ์ตูน นักซิ่งสายฟ้า กำลังเข้าฉายในเมืองไทย) ก็ย่อมมียุคที่ซบเซา เมื่อ tamiya ได้ออกผลิต รถกระป๋องออกมา เป็นรถบังคับวิทยุขนาดเล็ก ซึ่งทำให้เพิ่งความสนุกมากขึ้น เืมื่อเราจะไปวิ่งที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีราง จะบังคับไปทางไหนก็ได้

Lets go การ์ตูนนักซิ่งสายฟ้า แข่งรถแดช
Lets go การ์ตูนนักซิ่งสายฟ้า แข่งรถแดช

อ้อ..ขอเพิ่มความบ้าอีกซักนิด ด้วยการทำสนามแข่งของผมเอง ที่บ้านเก่าของผมจะมีใต้ถุน และด้านความที่ชอบคิดโน้นคิดนี่ ประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ อยู่แล้ว ผมจึงไปเอาปูนมาผสม เพื่อทำเป็นทางวิ่ง ผสมเอง ฉาบเอง มีกระเบื้องเป็นขอบราง และยังมีร่องน้ำ ให้ลุยอีกด้วย มีสะพานให้รถกระโดด หลังจากทำเสร็จ เพื่อนฝูงก็มารวมกันที่บ้านผม มาเปิดรถแข่งกัน ก็สนุกสนานกันไป

และส่งท้ายด้วยภาพรถคันเก่งคันใหม่ของผม ซึ่งคันนี้ไม่ได้เอาไปแข่งที่ไหนเลย โครงที่ใช้เป็นโครงใหม่ ที่ซื้อมาเปลี่ยนอันเก่าที่หักไป ทุกอย่างยังอยู่แต่ขาดมอเตอร์ ซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าให้ใครไป จึงเก็บรถไว้เป็นที่ระลึก ว่าครั้งหนึ่งเราเคยเล่นสิ่งนี้มา และทิ้งท้ายไว้ด้วย ภาพที่วาดขึ้น จะส่งประกวด แต่เสียดาย เพราะถ้าส่งไปแล้ว จะไม่ได้คืน จึงเอาไป เคลือบและเก็บไว้ดีกว่า