ถ้าพูดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเรา ก็คงจะมีมายมายจนนับไม่ถ้วน แล้วแต่ใครจะ “นับถือ” หรือมี “ความเชื่อ” ในสิ่งนั้นๆ วันนี้ก็เลยเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า อะไรกันละ? ที่เขาเรียกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เลยไปหาคำตอบมาจนได้ความหมายของคำว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนี้
สิ่งศักดิ์สิทธิ์คืออะไร
คำว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” พจนานุกรมฉบับล่าสุดให้ความหมายว่า น. “สิ่งหรือภาวะที่เชื่อว่ามีอำนาจเหนือธรรมชาติ สามารถบันดาลให้เป็นไป หรือให้สำเร็จได้ดังปรารถนา” เช่น ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บันดาลให้เขาหายจากโรคร้าย
ความหมายที่ว่านี้เป็นความหมายของคำนาม
ในกรณีที่เป็นคำวิเศษณ์ พจนานุกรมฉบับเดียวกันนี้ ให้ความหมายว่า “ที่เชื่อถือว่ามีอำนาจ อาจบันดาลให้สำเร็จได้ดังประสงค์, ขลัง, เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์.”
เมินรัตน์ นวะบุศย์ (2544) ได้ทำวิจัยเรื่อง ทัศนะของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครราชสีมาเกี่ยวกับสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์และชีวิตหลังความตาย ให้ความหมายของคำว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” หมายถึง “พลังอำนาจเหนือสัมผัสที่เชื่อกันว่า สามารถให้คุณให้โทษต่อผู้เชื่อถือ”
กชภร ตุลารักษ์ (2546) ทำวิจัยในระดับปริญญาโทเรื่อง “ความเชื่อ” เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับการค้าขายอาหารในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ความหมายของคำว่า “ศักดิ์สิทธิ์” หมายถึง “สิ่งที่เชื่อถือว่ามีอำนาจ อาจบันดาลให้สำเร็จดังประสงค์ ขลัง,เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์.”
ที่มาจาก: http://sacredlthings.blogspot.com/2011/12/blog-post.html
สังเกตว่า…ในทุกๆคำจำกัดความของ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” นี้จะมีคำว่า “เชื่อว่า หรือ เชื่อถือว่า” อยู่ด้วยทั้งสิ้น อาจจะสรุปเป็นนัยได้ว่า “ศาสนา” ก็คือ “ความเชื่อรูปแบบหนึ่ง” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็เป็นความเชื่ออีกเช่นกัน ซึ่งก็มีคำถามตามมาอีกว่า “ถ้าไม่เชื่อละ”
ถ้าไม่เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง หรือ มีพลังอำนาจเหนือบรรยาย หรือ สัมผัสแตะต้องไม่ได้ เป็นอำนาจที่มีปาฏิหาริย์ แล้วจะยังไงต่อ?
รู้สึกเหมือนเคยพูด หรือ เขียน ในเรื่องของศรัทธา และความเชื่อ ไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่จำไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ ข้อแตกต่างของศรัทธากับความเชื่อนั้นอยู่ที่ “พลังของการสร้างสรรค์” ความเชื่อโดยมากแล้วจะเชื่อไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี ตามสภาพแวดล้อม หรือ ถูกกล่อมเกลาให้เชื่อในสิ่งนั้นๆ ให้ฝังใจกับสิ่งที่อาจจะจริง หรือ ไม่จริง แต่ให้เชื่อว่ามันมีหรือเป็น เพื่อทำให้เกิดความสบายใจ ความสุข หรือ ผลประโยชน์ ต่อความเชื่อนั้นๆ
แต่ศรัทธาจะเป็นความเชื่อที่ไม่ได้ผ่านการกล่อมเกลามากนัก แต่เป็นเพราะมันออกมาจากเบื้องลึกของจิตวิญญาณของมนุษย์โดยแท้ โดยไม่มีข้อกังขา โดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อบรรลุผลในสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามที่ได้ศรัทธาไว้ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ความเชื่อ” รวมกับคำว่า “มั่น(คง)” เป็นคำว่า “ความเชื่อมั่น” หรือฝรั่งใช้คำว่า “Believe”
แต่หากความเชื่อในข้างต้นนั้น มิได้ส่งผลที่ดีกลับทำให้เกิดการศูนย์เสีย หรือมีการปฏิบัติไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เป็นความเชื่อที่ไร้เหตุผล แต่มีข้อกังขา จากคนที่ไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา มันก็จะเกิดเป็น “ความงมงาย” โดยที่คนมักจะบอกในสิ่งนี้ว่างมงาย สิ่งนั้นงมงาย ก็เป็นคนที่ไม่ได้เชื่อถือนี่เอง
สำหรับศรัทธานั้น ไม่ว่าใครจะคิดยังไง จะศรัทธาหรือไม่ ก็ไม่มีผล เพราะศรัทธาได้เลยจุดที่จะกลับลงไปได้แล้ว มันจะสูงขึ้นๆ ไม่โดนเอน ไม่ไหวติง ไม่สั่นคลอน เป็นความเชื่อที่จำสำเร็จได้เมื่อบรรลุผลที่ตั้งไว้แล้วเท่านั้น หรือจะหยุดได้ เมื่อผู้นั้นหมดศรัทธาลงเอง
สำหรับผมเองแล้วผมเองไม่ค่อยเชื่อในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือพลังอำนาจที่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ซักเท่าไหร่ เรียกได้ว่าไม่เชื่อเลยก็ว่าได้ เพราะมันมองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ หรือ อาจจะเป็นเพราะจิตของเรา มันเป็นอย่างนั้นเอง ไม่สามารถรับรู้อะไรที่อยู่นอกเหนือประสาททั้ง 5 ของมนุษย์ได้ แต่เชื่อในสิ่งหนึ่ง ที่เรียกว่า “มนุษย์” สามารถทำอะไรที่เกินกว่ามนุษย์หลายๆคน จะคาดการณ์ หรือ คาดคิดไว้ได้ มนุษย์เราเองนี่แหละคิดสิ่งที่เราควรสักการะบูชา ให้เกียรติ ให้ความนับถือและดำเนินรอยตามมากที่สุด
ผมไม่ได้บอกให้ใครไปกราบไหว้ “ผี” แล้วขอพรโน่นนั่นนี่ เพราะพรนั้นมันจะสำเร็จมันไม่ใช่เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ มันอยู่ที่โอกาสและเวลาของคุณนั้นแหละ ที่จะคว้ามันไว้ได้หรือป่าว คุณทำตัวให้ดูเหมือนคนจะประสบความสำเร็จหรือป่าว คุณซ้อมกีฬาหนักแค่ไหนก่อนไปแข่งขัน โชคชะตามันไม่ได้ขีดบอกเราให้แพ้หรือชนะ เราเองต่างหากที่เป็นกำหนดชีวิต กำหนดอนาคตของตัวเอง มันอยู่ที่เราเป็นและเราทำมันขึ้นมา ธรรมชาติสร้างเราขึ้นมาเพื่อเป็นผู้สร้างสรรค์และสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้น ด้วยสมองอันชาญฉลาดของเราเอง
“สิ่งที่เราควรเชื่อมั่นและศรัทธาที่สุด
….คือความเป็นมนุษย์ของเรานี่เอง”