ควายหายล้อมรั้ว

ว่าด้วยข่าวเปิดตัว”เกมเมอร์การ์ด”โปรแกรมป้องกันเด็กติดเกมครั้งแรกของไทย พออ่านแล้วก็นึกสลด หดหู่ใจยังไงชอบกล คือด้วยหลักการ “เชิงบวก” อย่างที่เขาว่า คือ ลงโปรแกรมนี้แล้ว จะช่วยแก้ปัญหาเด็กติดเกมส์ ช่วยเตือนเวลาเล่นเกมส์ และใช้งานอินเทอร์เน็ตเกินเวลาที่กำหนด

เนื้อหาข่าวว่าไว้ดังนี้

วันนี้(17 ก.ย.) ที่โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)จัดสัมมนา เรื่อง การส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตและเกมเชิงบวกสำหรับเด็กและเยาวชน พร้อมเปิดตัวโปรแกรมป้องกันเด็กติดเกมเชิงบวก หรือ เกมเมอร์การ์ด (Gamer Guard Program) ครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีนายกฤษศญพงษ์ ศิริ ผู้ตรวจราชการวธ. นายวินัย สิทธิมณฑล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธาน พร้อมทั้งมีผู้ประกอบการร้านเกม ผู้บริหารสถานศึกษา เครือข่ายภาคเอกชน เครือข่ายผู้ปกครอง เข้าร่วมงานครั้งนี้มากกว่า 200 คน

ผศ.ดร.พงษ์ชัย นิลาศ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์สจล. ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาและพัฒนากลไก เพื่อการแก้ปัญหาเด็กติดเกมเชิงบวก กล่าวว่า สจล.ใช้เวลา กว่า 1 ปี ในการศึกษาและพัฒนาโปรแกรมดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการดูแลบุตรหลาน และให้ร้านเกมใช้สำหรับเตือนเด็กและเยาวชนที่เข้าไปใช้บริการในเชิงบวก โดยเป็นโปรแกรมที่ส่งเสริมการเล่นเกมและอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม โดยจะมีระบบซอฟท์แวร์แจ้งเตือนเมื่อผู้ใช้งานเล่นเกมและอินเทอร์เน็ตนานเกินไป ซึ่งไม่ได้เป็นการบล็อก หรือปิดกั้น แต่เป็นการเตือนว่า ผู้เล่นเกมเล่นนานเกินไปแล้ว และยังช่วยให้ผู้ปกครองได้รับรู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในการดูแลเยาวชนที่เล่นเกม และใช้อินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ระบบจะมีรายงานการใช้งานเกมและอินเทอร์เน็ตย้อนหลังว่า เล่นเกมอะไร เข้าเว็บไซต์ใด และใช้เวลาเท่าใด เพื่อตรวจสอบการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเกมที่เคยเล่น รวมทั้งมีการให้ความรู้เรื่องเกมและการใช้อินเทอร์เน็ต และให้ความรู้ในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ลักษณะของเด็กติดเกม วิธีป้องกัน วิธีแก้ไขเมื่อติดเกม และภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อสังคม รวมถึงการเติบโตของการบริโภคเทคโนโลยีสารสนเทศ

จากสถิติการใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า ประเทศไทยมีใช้อินเทอร์เน็ตเล่นเกม มากถึง 20 ล้านคน ติดลำดับ 9 ของเอเชีย โดยร้อยละ 70 ของเด็กและเยาวชน ใช้อินเทอร์เน็ต และเล่นเกมที่บ้าน ขณะที่ผู้ปกครอง 42.3 ไม่มีการควบคุมการเล่นเกม เพราะไม่รู้จะควบคุมอย่างไร ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กอายุ 6- 19 ปี เคยดูสื่อลามก สัดส่วนของเด็กและเยาวชน ร้อยละ 49.9 บอกว่าความรุนแรงในเกมเป็นเรื่องปกติธรรมดา นอกจากนี้ เกมออนไลน์ที่เด็กนิยมเล่น ร้อยละ 46.1 เป็นเกมต่อสู้ ฆ่าฟัน และเด็กที่มีพฤติกรรมติดเกม ร้อยละ 13.3 จะมีพฤติกรรม อยากเอาชนะ และมีพฤติกรรมก้าวร้าว ผศ.ดร.พงษ์ชัย กล่าว

นายนันทยุทธ หะสิตะเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเล่นเกมซึ่งปัจจุบันมีเกมถึงขั้น พัฒนาเกมที่สอนการมีเพศสัมพันธ์เป็นลำดับขั้น ซึ่งผู้เล่นสามารถเป็นผู้กำหนดการถอดเสื้อผ้าได้ด้วย ที่ร้ายไปกว่านั้น สามารถกำหนดได้ด้วยว่า จะถอดเสื้อผ้าลักษณะไหน เป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างมาก โดยส่งผลให้เด็กเลียนแบบ ทั้งนี้ตนได้เจอตัวอย่างเด็กที่เล่นเกมเหล่านี้ จนทำให้ไปมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรมาแล้ว อย่างไรก็ตาม เกมปัจจุบันเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองตามไม่ทัน เพราะมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก จึงเป็นสิ่งที่น่าห่วงที่สุดในสังคมไทย

ด้านนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์ วธ. กล่าวว่า วธ.ได้มอบโปรแกรมป้องกันเด็กติดเกมเชิงบวกให้แก่จังหวัดขอนแก่น ไม่ว่าผู้ประกอบการร้านเกม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้นำโปรแกรมดังกล่าวไปทดลองใช้ เนื่องจากวธ.เห็นว่า จังหวัดขอนแก่น เป็นเมืองใหญ่และมีร้านเกมอยู่มากกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการขอความร่วมมือในการใช้โปรแกรม พร้อมรับฟังความคิดเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร จากนั้นจะมีเวทีสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นในกรุงเทพมหานครอีกครั้ง ทั้งนี้ วธ.ยังได้จัดทำการ์ตูนแอนิเมชัน ในการเผยแพร่ความรู้ แนะนำ และสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสมด้วย จึงอยากเชิญชวนพ่อแม่ ผู้ปกครอง มีส่วนร่วมปกป้องคุ้มครองเด็กเพื่อลดการติดเกม โดยสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้ทางเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม www.c-me.go.th หรือที่ www.m-culture.go.th


 

มาดูในส่วนที่ทำสีแดงไว้ การช่วยเหลือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการดูแลบุตรหลาน ที่ถูกต้องและควรจะทำอย่างยิ่งคือ “ให้ความรู้ความเข้าใจ” ไม่ใช่โยนกระดูกให้แทะ แล้วจากไป พอหมดแล้วมาขอใหม่ มันไม่น่าจะใช่วิธีในการแก้ไขที่ถูกต้อง ดูจะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุเกินไปเสียด้วยซ้ำ เพราะอะไร? เพราะว่าคุณไม่เคยให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง คุณไม่เคยให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ปกครอง คุณเองก็เป็นผู้ปกครอง แต่คุณเองก็ยังหาวิธีที่ถูกต้อง และคิดว่ามีประสิทธิภาพพอจะควบคุมเด็กๆ ของคุณ ไม่ได้ แต่กลับคิดว่า ไอ้โปรแกรมอะไรนี่มันจะมาช่วยลดเด็กติดเกมส์ อย่างงั้นหรือ?

ผมเองก็เล่นเกมส์ พ่อแม่ซื้อให้เล่น ผมเองก็เคยติด เล่นทั้งวัน เล่นไม่รู้เวล่ำเวลา เล่นจนพ่อแม่ต้องทุบเครื่องทิ้งบ้าง โยนลงน้ำบ้าง แล้วยังไง?? ก็ไม่เข็ดหรอกครับ เพราะมันก็เล่นอยู่ดี เพราะเกมส์มันมีมาให้เล่นเรื่อยๆ จุดสำคัญหรือจุดเปลี่ยนมันอยู่ที่ “ความเบื่อหน่าย” และ “สังคม” การที่คุณจะให้เขาเลิกจดจ่ออยู่กับหน้าจอนั้น คุณต้องหากิจกรรมให้เขาทำ หาสังคมให้เขาได้พบปะผู้คนที่ไม่ได้นั่งจ้อง ยิ้ม หัวเราะ อยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์คนเดียวครับ คุณต้องแนะนำเขา และให้เขาไปหาประสบการณ์เอาเองครับ

ที่ผมพูดได้เพราะผมเจอมากับตัว พอมันถึงจุดๆ หนึ่ง เกมส์มันจะไม่มีความสำคัญอีกต่อไป นานๆ จะมาเล่นทีก็ได้ เมื่อมีงานมีการทำ มีเงิน มีรายได้ คุณจะลืมไปเลยว่า จะเล่นเกมส์ไปเพื่ออะไร บางครั้งมันก็ผ่อนคลาย แต่บางครั้งมันก็ดูไร้สาระที่จะเล่นต่อไป คุณต้องสอนคนให้คิดได้เอง ไม่ใช่ ควบคุมคนให้คิดตามที่คุณต้องการ มันไม่ใช่วิถีที่มั่นคงอีกต่อไปแล้ว เดี๋ยวนี้คนเราต้องการอิสระภาพ แต่อิสระภาพมันจะทำร้ายตัวเขาเองก็ต้องปล่อย ให้มันเป็นไปอย่างนั้น เราไปกำหนดกรอบ หรือเกณฑ์มากไม่ได้ มนุษย์เราทุกคนต้องรู้จักควบคุมตัวเอง เพราะไม่เช่นนั้น เมื่อมันเดือดร้อนคนอื่น กระทบถึงคนอื่น เขาจะได้รับการตอบสนองอย่างที่ควรจะเป็นเองครับ ไม่ต้องห้าม ไม่ต้องให้ท้าย คุณก็ต้องคิดเองว่า คุณควรจะดูแลเขายังไง ให้มันมีชีวิตที่ดีกว่านี้ โดยให้เขาคิดเอง ทำเองครับ

ผมได้ทดลองโปรแกรมนี้เมื่อกี้ ลองอ่านคู่มือแล้ว พบว่า “มันยากเกินไป” สำหรับผู้ปกครองโง่ๆ ที่ไม่รู้ภาษาคอม กระทั่งลงโปรแกรมยังไม่เป็น คุณคิดว่า เขาจะทำอะไรต่อได้? โดยต้องรู้ชื่อเกมส์ ถึงจะทำการกลั่นกรองได้ กำหนดเวลาได้ ถ้าไม่รู้ว่าเกมส์ลงไว้ที่ไหน ก็จบเห่ ถ้าไม่รู้ว่ามีเกมส์อะไรบ้าง ก็จบเห่ ถ้ายังไม่รู้อีกว่า ลูกหลานมันเสือกเล่นเกมส์ออนไลน์ ก็จบอีกเหมือนกัน ถึงแม้จะมีการติดตั้งรหัสผ่านในการเข้าโปรแกรม หรือ ถอนการติดตั้งโปรแกรม แต่คุณไม่คิดหรือว่า เยาวชนเราจะหาวิธีปลดโปรแกรมนี้ออกด้วยตัวเขาเอง เกมส์ที่เขาเล่น มันมีทั้งสูตรโกง มีแครก ต่างๆ นานา ซึ่งมันได้มาจากการเรียนรู้ของเขาเอง ทักษะเขาสูงกว่าผู้ปกครองเยอะครับ เว้นแต่ผู้ปกครองท่านใดจะเป็นคนที่เขียนโปรแกรมโกงเกมส์ หรือเป็นพวก GameMaster มาก่อน เขาจะรู้ทันเกมส์ เขาจะมีทักษะที่แสดงให้เห็นว่า กูอาบน้ำร้อนมาก่อน

ด้วยความเคารพ ผมเองไม่เห็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาของโปรแกรมนี้เลย มันเหมือนโปรแกรมคุมร้านเน็ตทั่วๆ ไป ว่าพอหมดเวลาก็ต้องมาจ่ายตังส์ แต่คุณลืมไปหรือป่าวว่านี่มันบ้าน แล้วตัวคุณเองเวลาใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัว คุณต้องการให้ใครมากำหนดมั้ยว่า คุณเล่นได้แค่ 2 ชั่วโมงนะ มันจะหมดเวลา

อย่างที่ผมกล่าวไปตอนต้น ผมอยากให้ กระทรวงฯ หรือ ผู้เกี่ยวข้อง ช่วยสั่งสอน ผู้ปกครอง ในปัจจุบัน ให้เข้าใจปัญหา เท่าทันต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน ไม่ใช่เอ๊ะอะ ก็ด่า เอะอะ ก็ว่าติดคอม แท้จริงเด็กมันอาจจะทำงานของมันอยู่ก็ได้ มันอาจจะนั่งหาประสบการณ์อยู่ก็ได้ คุณเคยผ่านวัยเด็กมาแล้ว แต่วัยเด็กของคุณ มันไม่เหมือนกับเด็กสมัยนี้ คุณจะเอาวิธีที่พ่อแม่คุณทำกับคุณ มาใช้กับเด็กสมัยนี้ไม่ได้ สมัยนี้ต้องให้เขาคิดเองให้ได้ ถ้าคิดเองไม่ได้ ก็ต้องปล่อยมันไปตาม ยถากรรม

ผมเองหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ปกครอง ที่เป็นห่วงบุตรหลานจะติดเกมส์ จะเข้าใจ ว่าปัญหามันไม่ได้เป็นที่เด็ก แต่มันเป็นที่คุณเองนั่นแหละ ที่ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับในความเป็นเด็กยุคใหม่ ไม่ยอมรับความคิดเห็นของเด็ก ไม่ฟังว่าเขาต้องการอะไร เชื่อผมเถอะครับ หาสังคมให้เขา ชวนเขาไปทำกิจกรรม ไปเที่ยวนอกบ้าน ไปอะไรก็ได้ ที่เจอสังคมดีๆ ไม่ใช่เด็กที่มัวนั่งเป็นนักเลงคีย์บอร์ด คุณคงไม่อยากเห็นเด็กสมัยนี้โตมาแล้วเป็นนักเลงคีย์บอร์ดแบบที่คุณทำกันอยู่ทุกวันนี้ใช่มั้ย?