กี่ยุคสมัย ลายมือก็ไม่เปลี่ยน

นี่มันก็ปาเข้าไปศตวรรตที่ 21 แล้ว เทคโนโลยีก็มีความก้าวหน้าไปไกลสุดลูกหูลูกตา การทำงานทุกอย่างอาศัยระบบคอมพิวเตอร์เขามามีส่วนช่วย และควบคุมการทำงานในทุกขั้นตอน ไหนจะ SmartPhone Tablet อีกมากมาย อุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้ก็ทรงอานุภาพอย่างมาก ทั้งขีดเขียน ถ่าย แชร์ ส่งต่อ ล้วนทำได้ง่ายเสียยิ่งกว่าปลอกกล้วยเข้าปาก

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังมีปัญหาที่มันไม่เคยได้รับการแก้ไขเลยในสังคมบ้านเรา (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าบ้านอื่นเขาเป็นแบบนี้หรือป่าวนะ?) มันคือปัญหาฟอนต์ “ลายมือ” ที่แสนจะปวดร้าวจิตใจ ใครหลายๆ คน โดยทุนเดิมเหมือนสังคมไทยเรามีความหลังฝังใจกับคำว่า “พวกเรียนเก่ง ลายมือไก่เขี่ย” “พวกหมอลายมืออ่านไม่ค่อยออก” มันเลยเป็นบรรทัดฐานหรือป่าวว่า ถ้ากูเรียนหมอ กูไม่ต้องไปคัดลายมือให้สวยก็ได้ เขียนๆ ไปเถอะ ขีดๆๆ ไป เดี๋ยวห้องยาเขาก็อ่านกันออก พอจ่ายยาผิด เกิดผลกับคนไข้ ใครจะรับผิดชอบ?

กับอีกหนึ่งอาชีพที่ลายมือ…พอกัน คือ ตำรวจจราจร เวลาเขียนใบสั่ง ขอความกรุณาให้ตั้งใจเขียนนิดนึง ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องตวัดปากกามาก เขียนให้เป็นตัวๆ เขียนให้เป็นคำๆ คนจะได้อ่านได้ คนธรรมดาจะได้อ่านออกว่าอะไรเป็นอะไร มันจะได้ไม่ต้องมีปัญหาในการตีความอีก

ดูอย่างศาลสมัยนี้ซิครับ ท่านพูดใส่ไมค์แล้ว ให้คนพิมพ์คำวินิจฉัย เพราะมันจะผิดพลาดไม่ได้ ต้องถูกต้องครบถ้วน เพราะมันเกี่ยวข้องกับกฏหมาย

สมัยเรียนมีเพื่อนคนหนึ่ง ลายมือมันไก่เขี่ยเอามากๆ แทบจะอ่านไม่ออก ยิ่งช่วงที่ต้องลอกการบ้าน สมุดของเพื่อนไม่ต้องไปหยิบเลยครับ อ่านไม่ออก จะหลับหูหลับตาลอกก็กลัวจะผิด เพราะแยกระหว่าง ข,บ,ป,ย ?ของมันไม่ออก มันบอกว่า ลายมือแบบนี้แหละ ลายมือหมอ ซึ่งตอนนี้มันก็ไม่ได้เป็นหมอแบบลายมือมันหรอกครับ

ส่วนน้าผมเขาก็มีตำแหน่งพอสมควร ลายมือเขาสวยมาก ผมเคยเห็นเขาว่างๆ เขาจะเอาสมุดมาหนึ่งเล่ม มานั้งคัดลายมือ เขียนชื่อตัวเอง เขาชื่อบ้าน เขียนคำนั้นคำนี้ เวลาเขียนเขาก็จะค่อยๆ เขียนไปเรื่อยๆ ไม่ได้รีบร้อนอะไร มันทำให้ผมคิดได้ว่า มันไม่ได้เกี่ยวกับอาชีพหรอก มันเกี่ยวกับความมักง่ายของคนมากกว่า ที่นึกจะเขียนอย่างไรก็เขียน ไม่ได้นึกถึงคนจะมาอ่าน บอกคนเขียนและอ่านลายมือตัวเองไม่ออกก็มีถมเถไป

ขอวิงวอนต่ออาชีพที่ทำงาน “เพื่อส่วนรวม” อย่ามักง่ายในการเขียนลายมือเลยครับ ถ้ามันลำบากกับการเขียนนักก็พิมพ์เถอะ