ผู้ให้

วัฒนธรรมการขอของประเทศเรามันเริ่มจะรุนแรงขึ้นทุกวัน เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวเกี่ยวกับวงโยฯ แห่งหนึ่ง ไปปักหลักเฝ้ารอความช่วยเหลือจากคุณตัน ภาษาชาวบ้านจะเรียกได้ว่าไป “ไถตังส์” ก็ไม่เชิง โดยคุณตันก็ใจดี เพราะทำกันถึงขนาดนี้แล้ว ออกสื่อแล้ว เป็นที่พูดกันใน social แล้ว แกก็ไม่อยากเสียหน้า เลยมอบเงินจำนวนหนึ่งให้ พร้อมกำชับว่า “ถึงน้องๆทุกคน ขอโทษนะ พี่ไม่ใช่รัฐบาล และก็ไม่ใช่สปอนเซอร์ และพี่ก็ไม่มีปัญญาไปช่วยทุกคน แต่เห็นน้องทุกคน มีความมุุ่งมั่นขนาดนี้แล้ว … พี่ขอมอบเงินส่วนนี้ให้น้องทุกคนไปทำหน้าที่เพื่อชาติ ไม่ต้องเอาเงินมาคืนพี่ แต่เอาชื่อเสียงและรอยยิ้มกลับมาฝากคนไทย เข้าใจตรงกันนะ”

พอช่วงเวลานั้นผ่านไปไม่นาน ก็ถูกด่า ถูกขุดคุ้ยกันจนป่นปี้หมด เนื่องจากสังคมมองว่าเป็นนิสัย “มักง่าย” เกินไป โดยข้ออ้างว่า มีการทำเรื่องขอใช้งบประมาณ เมื่อหลายเดือนที่แล้ว แต่ไม่ได้การอนุมัติ ได้รับคำตอบว่า ให้รวมกันของบมาทีเดียวบ้าง ปัดความรับผิดชอบไปต่างๆ นานา ซึ่งเมื่อยังไม่มีใครออกมายอมรับในข้อเท็จจริง ก็ยิ่งมีการขุดคุ้ยประวัติ และเรื่องราวทั้งหมดไปเรื่อยๆ

ผมได้เฝ้าติดตามมาซักระยะหนึ่งแล้ว ลองดูภาพที่ซ้อมแล้ว ภาพที่แสดงโชว์แล้ว รู้สึกแปลกๆ มันไม่เหมือนกับการดวล หรือ การแข่งขันซักเท่าไหร่ เหมือนการไปโชว์เสียมากกว่า ซึ่งมีการแก้ไขบทความในเว็บบางตอน จากที่ได้สมัครไปร่วมแข่งขัน เปลี่ยนเป็นได้รับเชิญไป มันฟังดูต่างกันเล็กน้อย แต่สำหรับผมแล้ว การที่เราสมัครไปเอง มันจะดูมีภาษีดีกว่านะ ถ้าเสียหน้าก็เสียไม่มาก เท่ากับการเชิญไปแข่ง เพราะการเชิญมันแน่นอนแล้วว่า ทางผู้จัดต้องรู้ฝีมือ รู้ถึงคุณค่าของการแสดงครั้งนี้ ถึงเอามาโชว์ได้ ถ้าทำได้ไม่ดี มันจะเสียทั้งคนแสดง ทั้งผู้จัดงาน

อีกทั้งวัตถุประสงค์ของการไปครั้งนี้ยังมีวาระซ่อนเล้นอีกมากมาย ไม่ว่าจะไปเที่ยว ไปรับ Pre-Order ของนอก ทำให้เกิดประเด็นที่ถกเถียงกันตามมา ถึงความเหมาะสม รวมทั้งมีการตอบโต้จาก “ผู้สนับสนุน” ที่ไม่ยอมรับ และ ไม่เห็นว่าในสิ่งที่วงโยฯ ทำนั้นผิด หรือ ไม่เหมาะสมอย่างไร เข้ามาด่า เข้ามาท้าทาย เข้ามาปกป้อง

ผู้ให้ก็ได้แต่นั่งดูดราม่าตาปริ๊บๆ เพราะได้ตัดสินใจไปแล้ว ผมเองชื่นชมเสี่ยตันมาก ที่แกสปอต แต่แกก็คงได้ประสบการณ์ดีๆ ไปอีกครั้ง ที่ซื้อด้วยเงิน 3.1 ล้านบาท

กลับมามองถึง วงดรัมไลน์เมืองไทยที่ดังๆ คงไม่พ้น E-Sarn Drumline ที่ไปสร้างชื่อมาแล้ว เขาเป็นวงจากมหาสารคาม มีคลิป มีภาพบรรยากาศการฝึกซ้อม มีภาพการแข่งขัน ว่ากว่าเขาจะมาถึงจุดๆ นี้ได้ เขาทำอะไรมาบ้าง เขาฝึกซ้อมกันแค่ไหน เขาแข่งมาแล้วกี่ครั้ง ผมมองว่า มันมีเรื่องราว ที่ขายได้ ไม่โนเนม เหมือนการที่ รร.มีเด็กไปแข่งขัน แล้วได้รับรางวัลโน่น นั่น นี่มา มันก็การันตีได้ว่า รร.นี้ มีเด็กเก่งนะ มีครูที่เทรนด์เด็กไปแข่งได้นะ อะไรทำนองนี้

พอสังคมเห็นภาพความแตกต่าง ก็เกิดการเปรียบเทียบขึ้นมาอีกว่า ทำไมเอ็งไม่ทำแบบนี้วะ ดูทีมนี้เขาบ้างซิ ไม่ใช่แบมือขออย่างเดียว

สังคมการขอของเรามันขาดความรับผิดชอบต่อส่วนตัว อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมันเป็น “ปัญหาของคุณ” ไม่ใช่ปัญหาของใครเลย โดยคุณ อ้างว่าทำเพื่อประเทศชาติ แต่ไม่ใช่ปัญหาของชาติ มันเป็นปัญหาของคุณ ว่าทำไมคุณถึงหาเงินไม่ได้

สิ่งนี้ต้องแก้กันทั้งระบบ ตั้งแต่ครอบครัว ต้องปลูกฝังให้เด็กรับผิดชอบต่อตัวเอง แก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยมีผู้ใหญ่ที่เข้าใจปัญหา คอยแนะแนวทางให้ เมื่อเห็นการแก้ไขปัญหามันไม่ถูกไม่ควร (ไม่ใช่ไม่ถูกใจ) ต้องแก้ที่สังคม ให้รู้จักพึ่งพาตัวเอง มองคุณค่าของตัวเอง อย่าติดหรู ติดความฟุ้มเฟื้อไปตามสังคมรอบข้าง ควรจะมองตัวเราเองมากๆ อย่าไปสร้างภาระหนี้สิ้น เพื่ออัพให้ตัวเองดูดีขึ้นมา จงทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

การแก้ปัญหา ให้คิดไว้เสมอว่า ไม่มีใครช่วยได้ จงแก้ด้วยตัวเอง ก่อนอันดับแรก ถ้ามันถึงที่สุดแล้ว ให้หาคนอื่นช่วย แต่การให้คนอื่นช่วย ต้องดูภาระของเขาด้วย ไม่ใช่สัจแต่จะไปขอความช่วยเหลือจากเขา เพราะเห็นเขาไม่เดือดร้อน เราควรถามและสังเกตุเขาด้วยว่า เขาพร้อมใจจะช่วยหรือป่าว หรือ เพราะเขาแค่เอือมกับการกระทำ และต้องการให้มันจบๆ ไปพ้นๆ จากตัวเขาเสีย

ถ้าเจอคนที่ช่วยเขาดี เขาไม่อะไรก็ดีไป ถ้าเจอเจ้าหนี้นอกระบบ คุณจะไม่มีวันพ้นจากหนี้สินไปได้ เพราะเมื่อคุณขอมาแล้ว คุณก็ต้องใช้ และใช้ไปจนกว่าคุณจะคิดหาทางอื่นที่ดีกว่านี้ได้

Image Source: http://variety.horoworld.com/12311_วันอธิษฐานขอเงินจากพระจันทร์-ปี-2555